รายงานสุขภาพคนไทยได้ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 แล้ว
ในช่วงที่รายงานครบรอบ 10 ปี ทีมงานได้จัดเวทีสอบถามความคิดเห็นของผู้อ่าน ถึงสาระประโยชน์ของรายงานและสิ่งที่ต้องการปรับเปลี่ยน สิ่งที่เราได้รับคำแนะนำ คือ ให้ยังคงเนื้อหาและรูปแบบเช่นเดิม โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น ให้มีคำอธิบายตารางหรือแผนภูมิภาพประกอบด้วย และใช้ภาษาที่อ่านง่ายมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งทีมงานก็ได้นำข้อเสนอแนะนั้นมาปรับให้ดียิ่งขึ้น และยังคงรูปแบบของรายงานไว้ตามเดิม
หัวข้อพิเศษประจำฉบับสำหรับรายงานสุขภาพคนไทยฉบับนี้คือ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
สู่การปฏิรูปประเทศจากฐานราก ซึ่งเสนอเรื่องราวอันน่าสนใจของชุมชนท้องถิ่น ที่มีความเข้มแข็งสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ด้วยตนเอง ถึงแม้วิธีการจัดการปัญหาอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ความสำคัญกับประโยชน์ของส่วนรวม และการมีผู้นำที่เข้มแข็งเมื่อชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการกับปัญหาของตนเองได้นั้น นับเป็นความเข้มแข็งในระดับฐานรากที่สำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนสถานการณ์เด่นทางสุขภาพปีนี้ เรื่องที่ยึดครองพื้นที่ข่าวมาอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายจำนำข้าวที่ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องและยังไม่มีข้อยุติ ส่วนนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และประเด็นสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น กรณีพระนอกรีต กรณีปราสาทพระวิหารที่มีการตัดสินของศาลโลก ได้ถูกนำเสนอในส่วนของ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพเช่นกัน
ดัชนีชี้วัดทางสุขภาพปีนี้ นำเสนอเรื่อง โรคอ้วน ที่เป็นภัยเงียบทางสุขภาพและนำมาสู่การเจ็บป่วยที่เกิดจากภาวะอ้วน ในรายงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความอ้วนของคนไทย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลกระทบ ช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง เพื่อที่จะรู้ทันโรคอ้วน
จัดทำโดย | สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) | |||
สนับสนุนโดย | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) |