ผู้จัดการออนไลน์ [ วันศุกร์ ที่ 21 เดือนมกราคม 2554 ]
“จุรินทร์” เล็งหารือ สปสช.ปรับให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยเอดส์เร็วขึ้น


“จุรินทร์” เตรียมหารือ สปสช.ปรับการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ตามเกณฑ์กรมควบคุมโรค เริ่มให้ยาตั้งแต่เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางการให้ยารักษาโรคเอดส์ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคปรับใหม่ ซึ่งขณะนี้ สปสช.ยังไม่ได้นำเกณฑ์ดังกล่าวไปปรับใช้กับผู้ป่วยในโครงการรักษาฟรีว่า การปรับมาตรฐานการรักษาโรคเอดส์ของกรมควบคุมโรคนี้ การที่หน่วยงานใดจะนำไปใช้ก็เป็นข้อพิจารณาของแต่ละองค์กร ตนในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะขอให้ สปสช.รับประเด็นไปประกอบการพิจารณาต่อไป
ว่าในขณะนี้มีความจำเป็นหรือสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดใหม่ของกรมควบคุมโรคหรือไม่ มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในปี พ.ศ.2554 หรือไม่ และหากเห็นด้วยว่าควรจะมีการปรับเกณฑ์ จะปรับได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยเอดส์ได้เข้าถึงยาหรือเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานสูงขึ้น และรวดเร็วขึ้น หากระดับเม็ดเลือดขาว (CD4) ลดต่ำลงแค่ 350 ก็สามารถให้รับยาได้ทันที แทนที่จะให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มีเม็ดเลือดขาวลดต่ำกว่า 200

ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาโรคเอดส์เดิมที่ใช้อยู่ ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์จะได้รับการตรวจเม็ดเลือดขาว ถ้าพบว่าต่ำกว่า 200 จึงจะมีสิทธิรับยารักษาฟรีตามโครงการของ สปสช. ต่อมาในภายหลังมีการวิจัยต่างๆ พบว่าหากผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้นจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น กรมควบคุมโรคจึงปรับแนวทางการเริ่มให้ยาต้านไวรัสเมื่อปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 เป็นแนวทางของประเทศ แต่หน่วยงานไหนจะนำไปใช้ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยประเมินแล้วจะมีผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 350 ประมาณ 10,000 คน จากผู้รับยาเดิมที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200 ประมาณ 200,000 คน

ถ้าคนไข้เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200 แสดงว่าภูมิต้านทานร่างกายต่ำมากแล้ว โอกาสที่จะโอกาสติดเชื้อเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ก็มีมากขึ้น ดังนั้น หากรอให้ภูมิต้านทานต่ำจนกระทั่งป่วยแล้ว การรักษาก็ยุ่งยาก และสิ้นเปลืองมากขึ้น การให้ยาต้านไวรัสเร็วจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลงไปได้มาก




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล