ไทยโพสต์ [ วันศุกร์ ที่ 21 เดือนมกราคม 2554 ]
คืนวิถีคนปายรณรงค์ปลอดน้ำเมา


เมืองปายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก นิยมเดินทางมาสัมผัสทิว ทัศน์และชีวิตของเมืองเล็กแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้ปายกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตของภาคเหนือ มีที่พักหรูหรามากมาย รีสอร์ต ร้านค้าหลากหลายรูปแบบละลานตา รวมถึงร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นมา

ปายเปลี่ยนแปลง เป็นประโยคที่ถูกพูดถึงในระยะหลังมานี้ ปายในวันวานเป็นเมืองที่เงียบสงบ คนปายส่วนใหญ่เมื่อตื่นเช้ามาก็จะจับจอบ เสียม ไปทำไร่ ไถนาตามท้องทุ่ง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวิถีเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในปายมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีผู้คน 7 ชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน เช้ามาที่ตลาดในตัวเมืองปายก็มีพี่น้องชนเผ่าต่างๆ ใส่ชุดประจำเผ่านำข้าวของมาขาย เป็นภาพที่งดงามเย็นตา แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีที่สะท้อนออกมาจากการแต่งกายและการพูดจา

แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นแทบไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว เพราะความเจริญถาโถม มีนายทุน คนต่างถิ่นเข้ามาหาประโยชน์จากปายมาก ทำให้คนปายดั้งเดิมส่วนใหญ่ที่เคยอาศัยอยู่ในตัวเมืองขายบ้านเพื่อหนีความวุ่นวายมาอยู่นอกเมืองกันหมด นอกจากโรงแรม เกสต์เฮาส์ ซึ่งเข้ามาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ก็ยังมีผับบาร์ผุดขึ้น บางร้านที่เคยขายอาหาร น้ำผลไม้ ก็หันมาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทน นี่คือสิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน ในที่สุดความเป็นปายก็เสื่อมสลายไป และถูกแทนที่ด้วยสิ่งเร้าใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือลูกค้า

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายยี่ห้อพยายามแทรกซึมเข้ามาในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในเมืองปาย ถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวล เมื่อปี 2552 มีการจัดงานคอนเสิร์ตในปายหลายงาน ในแต่ละงานจะมีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสปอนเซอร์หรือนำมาขายอย่างคึกคัก อย่างงานคอนเสิร์ตที่จัด ณ ร้านกาแฟชื่อดังแห่งหนึ่ง มีการตอบแทนชุมชนด้วยการมอบเบียร์ให้หมู่บ้าน 500 กระป๋องเพื่อนำไปขายนำเงินเข้าหมู่บ้าน แถมภายในงานยังไม่มีการควบคุมการขายเครื่องดื่มให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขนาดนี้ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) รวมถึงคนปายส่วนใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้เป็นอย่างมาก

รอน ใจกันทา ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลปาย อำเภอ สภ.ปาย ชุมชน 5 แห่ง เทศบาลปาย และโรงเรียนปายวิทยาคาร ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่บังคับใช้ในการซื้อขายเครื่องดื่มให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้รับทราบ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าในงานศพ และงดเหล้าเพื่อความปลอดภัยในงาน 100 ปีปาย เป็นต้น ในแต่ละงานก็ได้รับตอบรับจากคนในชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบร้านค้าจำนวน 12 แห่ง โดยพบการกระทำความผิดและมีการกล่าวโทษ พร้อมกับดำเนินคดีทั้งหมด 8 ราย ส่วนอีก 4 ราย เป็นการประ ชาสัมพันธ์กฎหมายให้รับทราบในฐานความผิด ในส่วนของการโฆษณามีบทลงโทษในการจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 43

ความพยายามรณรงค์สร้างกระแสเมืองปลอดเหล้าในขณะนี้ เป็นอีกแนวทางในการสร้างสรรค์เมืองปายให้ก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าปายวันนี้จะกลับคืนสู่วิถีเกษตรแบบดั้งเดิมได้ยาก แต่การก้าวเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในขอบเขต เชื่อได้เลยว่า ปายจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะยังไงก็อยากให้ทุกคนร่วมเป็นกำลังใจแก่คนเมืองปายให้ทำภารกิจที่ยากยิ่งนี้ให้สำเร็จ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล