ผู้จัดการออนไลน์ [ วันอังคาร ที่ 11 เดือนมกราคม 2554 ]
สธ.เตรียมรับมือ 4 โรค “ไข้หวัดนก-โรคไข้สมองอักเสบ-โรค Brucellosis-โรค Leishmania”


สำนักระบาด เผย 4 โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ “โรคไข้หวัดนก, โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัส Nipah, โรค Brucellosis และโรค Leishmania ต้องเฝ้าระวังปี 54 ย้ำหวัดนกยังน่าห่วง

นพ. ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2554 ทางสำนักระบาดได้มีการเตรียมแผนยุทธศาสตร์รับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ประกอบด้วย โรคไข้หวัดนก, โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัส Nipah, โรค Brucellosis และโรค Leishmania โดยโรคที่ต้องพึงเฝ้าระวังอันดับแรกคือ ไข้หวัดนก แม้ว่าในปีที่ผ่านมาไม่มีการระบาดในคนไทยก็ตาม แต่ก็ยังน่าห่วงเพราะเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วพบการระบาดในคนที่ประเทศอียิปต์ และพบการระบาดในสัตว์ปีที่ประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้น จึงยังไม่ควรไว้วางใจสถานการณ์ เพราะปัจจุบันสัตว์ปีกอย่างนกสามารถอพยพตัวเองข้ามประเทศ และข้ามทวีปได้โดยเร็ว คนไทยจึงยังคงเสี่ยงกับโรคนี้อยู่


นพ.ภาสกร กล่าวด้วยว่า โรครองลงมาที่ต้องจับตาเฝ้าระวังไม่ต่างกัน คือ โรค Leishmania เนื่องจากประเทศไทยพบการระบาดแล้วปีละประมาณ 2-3 ราย ล่าสุด พบในปี 2552 พบระบาด 1 ราย ซึ่งมีที่มาจากประเทศในแอฟริกา โดยปรากฏอยู่ในชนบท พาหะของโรคนี้ คือ ตัวริ้นทอง มีลักษณะคล้ายยุง สำหรับพื้นที่ประเทศไทยนั้นจะพบได้ในบริเวณทางภาคใต้ ซึ่งหากร่างกายมีแผลด้วยและถูกตัวร้นทองกัดก็จะก่อให้เกิดโรคนี้ได้

“สำหรับลักษณะของโรคนั้น มีหลักๆ 2 ประเภท คือ แบบเฉียบพลัน ผิวหนังตรงบริเวณถูกริ้นทองกัดจะเกิดเป็นตุ่มแดง แล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ต่อมาแตกเป็นแผล ไม่เจ็บ อาจมีอาการคันบ้างเล็กน้อย ขอบแผลนูนขึ้น น้ำเลือดหรือน้ำเหลืองแห้งกรังติดบนแผล ส่วนประเภทที่สองจะเป็นแบบเรื้อรังและมีอาการรุนแรง โดยจะขึ้นเป็นผื่น หนาสีแดง อยู่นานเป็นปี อาจดีขึ้น และเป็นใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยนั้นจัดเป็นประเภทแรกและรักษาตัวจนหายขาดได้แล้ว แต่ทางกระทรวงก็ยังไม่วางใจ เพราะปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางไปแอฟริกาก็บ่อย อาจจะมีการนำโรคนี้ หรือโรคอื่นเข้ามาในประเทศได้ จึงต้องดำเนินการค้นหาผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่ประเทศข้างต้นให้ พบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์ของพาหะนำโรคด้วย แม้ว่าตัวริ้นทองยังพบไม่มากนักในบ้านเรา” นพ.ภาสกร กล่าว

ผอ.สำนักระบาด กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัส Nipah ซึ่งในอดีพบในต่างประเทศที่ใกล้ไทยมากที่สุด โดยปัจจุบันพบว่า ไวรัส Nipah มีการอาศัยอยู่ในค้างคาว และค้างคาวจะมีการกัดกินเลือดในสัตว์เลี้ยงอย่างสุกร จากนั้นเชื้อจะแพร่สู่สุกรและหากคนรับประทานเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วยในไทยก็ตาม แต่ที่แหล่งกำเนิดโรคก็อยู่แค่ใกล้ๆ ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือให้ดี ส่วนโรคสุดท้าย คือ โรค Brucellosis หรือโรคแท้งติดต่อ ปัจจุบันค้นพบว่าเกิดในสัตว์จำพวกแกะ แพะ พื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้เมืองไทยกำลังสนับสนุนให้มีการเลี้ยงสัตว์ทั้ง สองชนิดนี้อยู่ ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดนี้ได้ ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะสามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่ไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกันได้

“การแพร่กระจายของโรคนั้น สามารถเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัส เช่น ถูกรก ลูกอ่อนที่แท้ง ปัสสาวะ ปุ๋ย ซากสัตว์ การติดเชื้อโดยการสัมผัส ดังนั้นกระทรวงจะต้องมีการประสานความร่วมมือกับภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังโรคนี้ ซึ่งทางสำนักระบาดมีการรายงานข้อมูลเพื่อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ให้แก่ที่ประชุมกระทรวงฯทราบเป็นระยะๆ” ผอ.สำนักระบาด กล่าว




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล