ไทยโพสต์ [ วันอังคาร ที่ 11 เดือนมกราคม 2554 ]
กลเม็ดรับมือเหตุฉุกเฉินช่วงเทศกาล


อาจจะผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเทศกาลฉลองปีใหม่ แต่พี่ไทยอย่างบ้านเรามีงานให้สนุกสนานอยู่ทุกวี่วัน ฉะนั้น เรื่องกลเม็ดรับมือกับสถานการณ์การป่วยฉุกเฉินระหว่างการฉลองต่างๆ นั้น จึงไม่ใช่เรื่องเก่าล้าสมัยอย่างแน่นอน

จับสังเกตอาการ

อาการหืดหอบ หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดสมองแตก มักทำให้เจ้าตัวหรือคนรอบข้างรู้สึกถึงความผิดปกติได้ไม่ยาก ควรปรึกษาแพทย์ในทันที หรือเรียกรถ*พยาบาล แต่ในหลายกรณีนั้นอาการอาจไม่เด่นชัด ดังนั้น ถ้าจับสังเกตอาการได้แต่เนิ่นๆ ก็จะลดอันตรายได้


คุณปู่เป็นโรคเส้นเลือดสมองหรือเปล่า?

ถ้าเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงสมองได้คนเราจะ

เกิดอาการวูบ คนรอบข้างอาจสังเกตเห็น ถ้าเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงสมองในบางบริเวณ เซลล์สมอง

ส่วนนั้นอาจตาย และสมองส่วนนั้นอาจทำงานได้ไม่ดี

โรคเส้นเลือดสมองมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ เส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งมีลิ่มเลือดไปทำให้เส้นเลือดในสมองแคบลงหรืออุดตัน กับเส้นเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในสมอง

อาการอีกอย่างหนึ่งคือ การขาดเลือดเฉพาะที่เป็นการชั่วคราว หรือทีไอเอ (TIA-transient ischaemic attack) ซึ่งเหมือนกับโรคเส้นเลือดสมอง แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง

ทีไอเอเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังจะเป็นโรคเส้นเลือดสมอง ดังนั้น ต้องดูแลตัวเองอย่างจริงจังเช่นเดียวกับคนเป็นโรคนี้ คุณจะมีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองมากขึ้นหากคุณมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดสมอง

การใช้ชีวิตก็มีผลเช่นกัน ถ้าคุณสูบบุหรี่ เป็นโรคอ้วน ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไม่ถูกส่วน หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

โรคเส้นเลือดสมอง สามารถสังเกตได้หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาการต่อไปนี้ร่วมกัน

ใบหน้าตกไปข้างหนึ่ง ไม่สามารถยิ้มได้ หรือใบหน้าดูบิดเบี้ยว

แขนข้างหนึ่งไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถยกแขนหรือยื่นไปข้างหน้าได้

ขาไม่มีแรง และเดินไม่ถนัด* พูดไม่ชัด

ดวงตาข้างหนึ่งมองไม่เห็น ถ้าสงสัยว่าใครมีอาการเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกให้รีบเรียกรถพยาบาล ยิ่งไปถึงมือหมอได้เร็ว โอกาสหายก็ยิ่งมีมาก

ถ้าเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เราจะรู้ได้อย่างไร?

อาการหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจเกิดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ผลก็คือ รู้สึกแน่นหน้าอก

หัวใจอาจหยุดเต้น คุณควรถือว่าโอกาสเสี่ยงต่ออาการหัวใจล้มเหลวเป็นเหตุฉุกเฉิน แม้คุณจะรู้สึกว่าตัวเองสบายดี

อาการนี้บางครั้งสังเกตยาก ควรเรียกรถพยาบาลเมื่อรู้สึกมีอาการเหล่านี้

แน่นหน้าอก หรือมีแรงกดดันมาก คล้ายมีคนนั่งทับบนหน้าอก

รู้สึกปวดลามไปถึงคอ หรือลงไปตามแขนข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง บางครั้งอาการปวดอาจลามไปถึงหลัง หรือรู้สึกปวดแถวท้องส่วนบน ซึ่งคล้ายกับเวลาอาหารไม่ย่อย

รู้สึกปวด หายใจไม่ออก คลื่นไส้ มีเหงื่อออก ผิวหนังเย็น อาจต้องหายใจทางปาก หรืออาเจียน จู่ๆ ก็แน่นหน้าอกหรือเป็นลม ริมฝีปากซีดหรือเขียว แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติอย่างปุบปับ ชีพจรไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้ามีอาการอย่างอื่นอยู่ก่อน เช่น วิตกกังวล การที่หัวใจเต้นเร็วก็เป็นเรื่องธรรมดา

รับมือกับอาการช็อก อาการงันหรือช็อก แสดงว่า เลือดไหลเวียนในร่างกายและไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญไม่เพียงพอ เช่น สมอง หัวใจ ทำให้ได้รับออกซิเจนน้อย ในคนที่มีอาการช็อกรุนแรง คนเจ็บจะมีอาการก้าวร้าว อ้าปากพะงาบหายใจ แล้วมีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น และหมดสติ ในที่สุดหัวใจจะหยุดเต้น ตัวเย็น ซีด ถ้าช็อกรุนแรงริมฝีปากจะเขียว ผิวดูเป็นสีเทาหรือตัวเขียว อาจมีเหงื่อไหลโทรม

ต้นเหตุของอาการช็อก มีเช่น

แผลไฟไหม้ : ถ้าถูกไฟลวกอย่างรุนแรงอาจช็อกได้ เพราะของเหลวในร่างกายได้ระเหยออกทางบาดแผล

หัวใจผิดปกติ : การเป็นโรคหัวใจเรื้อรัง เช่น หัวใจล้มเหลว ทำให้เกิดอาการช็อกได้

สูญเสียเลือด : หากเสียเลือดมากเนื่องจากบาดแผล คนเราจะช็อกได้เช่นกัน

สูญเสียของเหลว : เราอาจช็อกถ้าสูญเสียเหงื่อมากเกินไป อาเจียนอย่างรุนแรง หรือท้องร่วง

ได้รับสารพิษ : สารพิษหลายชนิดทำให้เลือดไม่ไหลเวียน ซึ่งทำให้ช็อก ระหว่างคอยรถพยาบาล... ดูแลให้ตัวเองอยู่ในท่วงท่าที่สบายเท่าที่ทำได้ นั่งในท่าตัวอักษรดับเบิลยูในภาษาอังกฤษ คือ เอนหลัง 70 องศา ชันเข่าขึ้น เอาหลังพิงพนักเตียงหรือกำแพงโดยมีหมอนหนุน หัวใจจะสูบฉีดโลหิตได้ดีขึ้นในท่านี้ ถ้ารู้สึกปวดหรือมีอาการปวดเค้น กินยาบรรเทาปวดไปพลางก่อน.




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล