หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันอังคาร ที่ 11 เดือนมกราคม 2554 ]
สธ.เร่งขยายนวดกดจุด หลังพบให้ผลสูงร้อยละ 91


กระทรวงสาธารณสุขเปิดอบรมนวดกดจุดให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ในปี 2554 นี้ จำนวน 90 คน เพื่อขยายบริการผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังไม่ต้องใช้ยา

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มบริการประชาชนด้วยการแพทย์ทางเลือกให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยจะขยายการให้บริการนวดกดจุด (Acupressure) ซึ่งเป็นองค์ความรู้การแพทย์แผนจีน มีหลักการเช่นเดียวกับการฝังเข็มที่มีมานานกว่า 4,000 ปี เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังเช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดบ่า ปวดแขน ปวดเข่า ปวดหลัง ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องใช้ยา แต่มีประสิทธิภาพสูง จะทำให้สามารถลดการใช้ยาในกลุ่มแก้ปวดลงได้


จึงได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดหลักสูตรอบรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ โควตาปีนี้จำนวน 90 คน อบรมทั้งหมด 3 รุ่น จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมนี้ เป็นต้นไป ใช้เวลาอบรมเพียง 5 วันต่อรุ่น

ทางด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ผลการศึกษาทางคลินิกของบริการการนวดกดจุดในโรงพยาบาล 13 แห่งใน 7 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มปวดศีรษะไมเกรน กลุ่มปวดคอ ปวดบ่า กลุ่มปวดแขน ปวดไหล่ กลุ่มอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก กลุ่มปวดหลัง กลุ่มปวดเข่า ปวดตึงเส้นขา และกลุ่มเส้นท้องตึง ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2552 มีประชาชนใช้บริการรวม 1,086 คน

โดยได้รับการนวดบำบัดรวม 1,982 ครั้ง เฉลี่ยคนละ 1.78 ครั้ง ปรากฏว่า อาการดีขึ้น 983 คน คิดเป็นร้อยละ 91 กลุ่มอาการที่เห็นผลดีขึ้นมากที่สุดได้แก่ อาการปวดศีรษะไมเกรน ดีขึ้นร้อยละ 97 รองลงมาคือผู้ป่วยอาการปวดคอ ปวดบ่า

โดยการนวดกดจุดเป็นการบำบัดรักษาที่เกี่ยวข้องกับจุดต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นวิธีการที่ใช้ง่าย ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทุกวัน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือของผู้บำบัดกดลงไปตรงจุดสำคัญที่เป็นจุดเดียวกับจุดฝังเข็ม วงการแพทย์ตะวันตกเริ่มให้การยอมรับว่า เป็นการเยียวยารักษาร่างกายที่มีความสำคัญแขนงหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปใช้บริการผสมผสานแก่ประชาชนอย่างปลอดภัย




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล