หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [ วันอังคาร ที่ 23 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
นายกฯเล็งขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ลดบริโภค


"อภิสิทธิ์" ขู่ขึ้นภาษีบาป ลดบริโภคเหล้า-บุหรี่ ขณะ ศวส.เผยแนวโน้มสุรานำเข้ามากขึ้น ไทยตกเป็นเป้าขยายตลาด บริษัทเหล้ายุโรป ประเมินไทยเป็นตลาดใหญ่อันดับ 8 ด้านนักวิชาการชี้ แก้ปัญหาน้ำเมาได้ วัยรุ่นทำแท้งลดลงปีละ 31.5%

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเสวนา "ปฏิรูปนโยบายแอลกอฮอล์ ปฏิรูปอนาคตประเทศไทย” การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 6 เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) ว่า มาตรการภาษี เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้ลดการบริโภคบุหรี่ และสุรา ทั้งยังส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการปรับขึ้นภาษีส่วนนี้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าหลังการปรับขึ้นภาษีจะทำให้คนบริโภคบุหรี่และเหล้าลดลง แต่เชื่อว่าการบริโภคจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะหง


นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า สำหรับกรณีสุราต่างประเทศ หลังจากมีการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ก็เรียกร้องให้เราลดอัตราการจัดเก็บภาษีศุลกากร จึงคิดว่าทางหนึ่งที่สามารถทำ และไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ คือ ลดภาษีศุลกากรลงมา แล้วปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตภายในประเทศให้สูงขึ้น

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 ปี 2553 มีมติรับรองยุทธศาสตร์โลกเพื่อจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นคำแนะนำให้แก่ประเทศสมาชิก 192 ประเทศ ใช้จัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ลดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับไทย ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2552 ได้รับรองแผนยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับชาติ และต่อมาได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการ

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า จากข้อมูลการนำเข้าและผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วง 13 ปี พบว่า สุราต่างประเทศ มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นลำดับ 3 รองจากเบียร์ และสุราขาว และมีแนวโน้มการนำเข้าสูงอย่างต่อเนื่อง จาก 19.98 ล้านลิตร ในปี 2538 เพิ่มขึ้นเป็น 156.2 ล้านลิตรในปี 2551 หรือเพิ่มถึง 7.8 เท่า ในอนาคต ไทยมีแนวโน้มเปิดเขตการค้าเสรีเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งไทยได้ลดภาษีศุลกากรลง 12 เท่า ส่งผลให้ส่วนแบ่งของตลาดสุรานำเข้าเฉพาะอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สมาคมผู้ผลิตสุราในสหภาพยุโรป ระบุว่า ไทย มีขนาดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหญ่ในเชิงปริมาณเป็นลำดับ 8 ถ้าเชิงมูลค่าถือเป็นลำดับที่ 18 มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 72 ล้านเหรียญยูโร หรือกว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้ไทยเป็นที่หมายปองในการขยายตลาดของบริษัทข้ามชาติ ผ่านการส่งเสริมการขาย ตราสินค้า และรูปแบบการดื่ม

นอกจากนี้ ยังเข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นห่วงว่ากลุ่มเยาวชนจะเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ การที่กลไกการค้าเสรี จะเป็นการจำกัดความสามารถของประเทศ ในการจัดการกับปัญหาแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พบได้จากประสบการณ์ของหลายประเทศในยุโรป” นพ.ทักษพล กล่าว

ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เยาวชนไทยที่ดื่มสุรามีโอกาสตั้งครรภ์และทำให้ผู้อื่นตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น 2.92 เท่า มีโอกาสถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ซึ่งเมื่อใช้หลักการคำนวณทางระบาดวิทยาแล้ว จะประมาณการในสถานการณ์สมมติว่า หากวัยรุ่นหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จะลดโอกาสในการทำแท้งได้ปีละ 31.5% และหากวัยรุ่นชายไม่ดื่ม จะลดการทำแท้งได้ถึงปีละ 43.3% รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับมาตรการการจัดการกับการดื่มของเยาวชนในการจัดการปัญหาคุณแม่วัยใสและการทำแท้ง




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล