หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันอังคาร ที่ 23 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
ดีขึ้น แต่ยังต้องเพิ่มอีก 'เคารพสิทธิเด็ก' เรื่องไม่เล็ก...ที่ 'สำคัญ'


"วันที่ 20 พ.ย.ของทุกปี ประเทศเกือบทั้งโลกได้ร่วมลง สัตยาบันกำหนดให้เป็นวันสิทธิเด็ก เหตุผลก็คือต้องการให้ทุกคนในโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก ร่วมกันพิทักษ์สิทธิเด็กอย่างเข้มแข็ง ให้อยู่รอดปลอดภัย มีพัฒนาการที่พร้อม เพื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป...” ...เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการระบุของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กับเรื่องของ “สิทธิเด็ก” และ “วันสิทธิเด็ก” ที่เพิ่งผ่านมาเมื่อ 2-3 วันก่อน

“สิทธิเด็ก” มีวันที่ถูกกำหนดขึ้นโดยเฉพาะ

แต่เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญทุกชาติ-ทุกวัน...


สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรื่อง “สิทธิเด็ก” ก็มีการรณรงค์มากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ก็ถือว่ามีบทบาทสูง โดยในส่วนของหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” นั้น ทางคณะผู้บริหาร-ทาง ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด บรรณาธิการบริหาร ก็มีนโยบายให้ความสำคัญจริงจัง โดยรางวัลที่ได้รับจากโครงการประกวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในสื่อต่าง ๆ ที่สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ซึ่ง “เดลินิวส์” คว้าต่อเนื่องมา 4 ปีซ้อน นับแต่ปี 2550 ทั้งรางวัลยอดเยี่ยม-รางวัลชมเชย รวม 5 รางวัล ก็เป็นเครื่องบ่งชี้

ปี 2553 นี้ สกู๊ปข่าว “กระตุกสังคมต้านโหด สิทธิที่จะมีชีวิต หยุดละเมิดเด็กซ้ำซาก” โดยโต๊ะข่าวสกู๊ปเดลินิวส์ ได้รับรางวัลชมเชยจากเวทีนี้ จากการปลุกสังคมไทยให้เคารพในสิทธิของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิตั้งแต่ก้าวแรกคือการมีชีวิต อันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งนี้ กับข่าวครึกโครมล่าสุด การพบศพ “เด็กทารกถูกทำแท้ง” เป็นพัน ๆ ศพ ทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็สะท้อนว่า...นี่ก็คือการ “ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตของเด็ก” รูปแบบหนึ่ง

นี่คือบทบาทสื่อ...กับการให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิเด็ก”

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดงานมอบรางวัลโครงการประกวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในสื่อต่าง ๆ ประจำปี 2553 ในงานนี้ก็ยังมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่อง “สิทธิเด็ก” ด้วย

“ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์มีการพัฒนาเรื่องสิทธิเด็กดีขึ้นกว่าเดิมมาก ให้พื้นที่ข่าวเกี่ยวกับเด็กมากยิ่งขึ้น แต่ในการที่ทำข่าวเกี่ยวกับเด็กมากขึ้นก็เป็นการที่สื่ออาจจะไปละเมิดสิทธิเด็ก ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะไม่ไปละเมิดสิทธิเด็ก ก็คงเป็นการที่ต้องมีความรักทั้งในอาชีพสื่อและรักในเด็ก มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญสื่อต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวป้องกันอย่างหนึ่งในการที่จะไม่ไปละเมิดสิทธิเด็ก” ...เป็นส่วนหนึ่งจากเสียงสะท้อนของ รุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการบริหารสถาบันอิศรา

ขณะที่ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการควบคุมจริย ธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ชี้ที่สื่อวิทยุว่า... ปัจจุบันยังไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องของการนำเสนอเกี่ยวกับเด็กมากเท่าที่ควร ซึ่งก่อนหน้าได้เคยบอกไว้ว่าอยากจะให้ “เด็กเป็นศูนย์กลาง” แต่ทุกวันนี้เด็กยังไม่เป็นศูนย์กลางเท่าที่ควร

“อยากฝากถึงกรมประชาสัมพันธ์ อยากจะให้มีรายการวิทยุเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ยังมีรายการเกี่ยวกับเด็กน้อยเกินไป และหากมีรายการสำหรับเด็กก็ควรที่จะให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะการที่ให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นก้าวหนึ่งระหว่างสื่อกับเด็ก” ...บรรยงค์ระบุ

ด้าน ครูยุ่น-มนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก สะท้อนว่า... เรื่องเด็กนี้สื่อมีหลายอย่างที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน อย่างเมื่อก่อนในสื่อจะปรากฏชื่อเด็กชัดเจน แต่เดี๋ยวนี้เด็กได้รับความคุ้มครอง ทั้งกรณีเป็นผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ นอกจากนี้ สื่อยังได้เข้ามาช่วยเด็กในเรื่องกฎหมายอาญา ทำให้คดีคืบหน้าเร็วกว่าเดิม ตามผู้กระทำความผิดมารับโทษได้เร็วกว่าเดิม เพราะบางคนที่ใหญ่โตก็กลัวสื่อมากกว่าตำรวจ

“แต่ก็มีบางครั้งที่สื่อก็อาจจะมีการเผอเรอละเมิดสิทธิของเด็กอยู่บ้าง ซึ่งอยากให้สื่อเสนออะไรที่ตรงกับข้อเท็จจริง มิฉะนั้นอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กได้” ...ครูยุ่นกล่าว และยังระบุถึงผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไปว่า... “เวลาที่ผู้ใหญ่มีงานอะไร ก็จะเอาโปสเตอร์ไปติดตามโรงเรียนของเด็ก อยากจะให้โปสเตอร์เรื่องสิทธิของเด็กไปติดตามที่อยู่ ของผู้ใหญ่บ้าง เพื่อเวลาที่จะทำงานจะได้มองเห็นหน้าพวกเขาที่กำลัง มองอยู่”

ทั้งนี้ ปิดท้ายที่ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และทูตพิเศษองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่บอกว่า... คงไม่ใช่สื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กได้ ซึ่งก็อยากจะวิงวอนองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือส่วนต่าง ๆ ของสังคม ว่าต้องมีส่วนในการป้องกันปัญหาด้วยเช่นกัน

“การจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับเด็กได้ ต้องอาศัยหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปราบปราม การหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องละเมิดสิทธิเด็กนี้เราต้องป้องกันก่อน ไม่ใช่เกิดเรื่องแล้วค่อยมาดำเนินการ” ...ทูตพิเศษองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุ

ก็เป็นเสียงสะท้อนล่าสุด...กับการดูแล “สิทธิเด็ก” ในไทย

เป็นเรื่องที่ทาง “เดลินิวส์” ได้ให้ความสำคัญมานานแล้ว

แต่ทุกฝ่ายในสังคมไทยก็ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก!!.




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล