ผู้จัดการออนไลน์ [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
ตอบโจทย์ "เพื่อสุขภาพ" บนวิถีทางธรรมชาติ


เกาะกระแสธุรกิจเพื่อสุขภาพบนวิถีทางธรรมชาติ มองระยะใกล้ วัตถุดิบยังเป็นปัญหา-บรรยากาศไม่เอื้อค้าขาย ผู้สร้างเทรนด์ชี้แนวทางอยู่อย่างยั่งยืน ยึด 3 กุญแจสู่ความสำเร็จ

เนื่องจากโรคภัยและความเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็งและเบาหวาน เกิดกับคนไทยมากขึ้น ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก และองค์ความรู้จากสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคหันมาดูแลตัวเองด้วย "วิถีทางธรรมชาติ" มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามวิถีทางธรรมชาติมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น ความเข้าใจของผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในวันนี้เลยจากเรื่องของผักปลอดสารพิษไปสู่เรื่องของออร์แกนิกแล้ว

เช่นเดียวกันกับในส่วนของผู้ผลิตหรือ ผู้ประกอบการที่เข้ามาในธุรกิจนี้มีเพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 ปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียง ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างในอดีต แต่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังให้ความสนใจในธุรกิจนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก "ผู้บริโภค" ในปัจจุบันให้โอกาส กล้าทดลอง และเปิดรับผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะเห็นว่ามีสินค้าไม่น้อยจากผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือสินค้าจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้รับการตอบรับอย่างดีและเติบโต เพราะผู้บริโภคไม่ยึดติด หรือให้ความสำคัญกับยี่ห้อดังหรือผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแต่ก่อน


แนวทางยั่งยืน

สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเพื่อสุขภาพ "เลมอนฟาร์ม" กล่าวว่า จากประสบการณ์การสัมผัสกับผู้ประกอบการ รายเล็กที่ผ่านมา ทำให้เห็น "จุดอ่อน" ที่สำคัญคือการไม่ค่อยมีคุณภาพและมาตรฐานทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ การบริการ และการจัดการ เช่น คุณภาพของสินค้าที่ไม่แน่นอน หรือเมื่อไม่มาส่งสินค้าตามเวลาที่กำหนดก็ไม่มีการ บอกกล่าวถึงสาเหตุ เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนเพื่อลดจุดอ่อนดังกล่าว และพัฒนาตัวเองโดยมีกุญแจ 3 ดอกที่ช่วยไขไปสู่ความสำเร็จ คือ 1.ศรัทธา 2.ปัญญา และ 3.การจัดการ ซึ่งหมายถึงการทำธุรกิจด้วยความเชื่อ รู้ว่าสิ่งไหนเหมาะกับตนเอง โดยต้องมีองค์ความรู้ เข้าใจในเรื่อง ของกำไรขาดทุน รู้ว่าทำได้ดีกว่า ต้นทุนต่ำกว่า รู้ว่าจะมีการจัดการที่ดีได้อย่างไร จึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

"ถ้าผู้ประกอบการผลิตจากฐานที่ตัวเองมีให้ชัดๆ ด้วยองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กับเรื่อง ของธรรมชาติบำบัดคือเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุดในทุกเรื่อง รู้ประโยชน์ของวัตถุดิบแต่ละชนิดที่นำมาใช้ ต้องรู้ว่าผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในวิถีทางนี้ กินอะไร ใช้อะไร รวมทั้ง ต้องลงลึกถึงความเชื่อและความเป็นตัวตน ต้องกินและต้องใช้แบบนั้น โดยเข้าถึงสิ่งนั้นด้วยตัวเอง เพราะการเป็นตัวจริง จะเข้าใจและพูดได้แรงกว่า ซึ่งน่าจะทำให้อยู่ในธุรกิจนี้ได้ยาวนานด้วย"

เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีจุดขายในเรื่องของ "คุณค่า" ดังนั้นการนำเสนอเรื่องคุณค่าจึงสำคัญมาก ขณะที่การโฆษณา ต้องใช้ต้นทุนสูง "การให้ความรู้" การมีข้อมูล ณ จุดจำหน่าย และการใช้วิธีให้ลูกค้าได้ทดลองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และการใช้วิธีการบอกแบบปากต่อปากจะได้ผล โดยเน้นคุณภาพ และไม่ใช้การตัดราคา เพราะเป็นการสวนทางกันและท้ายที่สุดทุกคนจะอยู่ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ต้องหา "คู่ค้า" ที่เหมาะสม นอก จากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องทำการบ้านตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ และต้อง "ซื่อสัตย์" เช่น ถ้าขายสินค้าที่เป็นออร์แกนิก ต้องเป็นจริงๆ ถ้าไม่ใช่ต้องบอกตามตรง

สำหรับแนวทางของ "ร้านเลมอนฟาร์ม" ซึ่งมีบทบาทในการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ให้ความสำคัญต่อพันธสัญญา ที่มีต่อผู้บริโภค โดยใช้วิธี "การตรวจสอบ นิสัย" ด้วยการดูวิธีการคิด การใช้ชีวิตและ ตัวตนของผู้ผลิตให้แน่ชัดว่ามีความเหมาะสมก่อนที่จะเปิดรับสินค้าเข้ามาวางจำหน่าย จากนั้นในระหว่างทางจึงให้ความสำคัญกับ "การตรวจสอบสินค้า" เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้

ในส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมอยู่ตลอดมา ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ เครื่องสำอาง ธัญพืชหรือสมุนไพรสำเร็จรูปประเภทพร้อมชงหรือพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์คลายความเครียด เช่น น้ำมันหอมระเหย ถุงประคบแบบต่างๆ ซึ่งกระแสสุขภาพมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก ต้องลงมือทำเอง เพราะผลิตภัณฑ์ตามวิถีธรรมชาติเน้นความสดใหม่ กับแนวทางที่สอง ต้องมีความสะดวกในการใช้ แต่ยังรักษาข้อกำหนดในเรื่องของสุขภาพให้ได้มากที่สุด

วิถีทางตามธรรมชาติ คือ การไม่ใช้สารเคมีและแต่งเติมน้อยที่สุด เป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติในท้องถิ่น เพราะจะทำให้เกิดการกลับไปดูแลธรรมชาติมากขึ้น และไม่ทำร้ายธรรมชาติ ทำให้เกิดการถนอมใช้ ขณะเดียว กัน ก็สามารถช่วยผู้บริโภคให้ได้ของสด จากการใกล้แหล่งผลิตที่ทำให้มีคุณค่ามากกว่า มีต้นทุนถูกกว่า และมีจุดแข็งมากกว่า เพราะมีเฉพาะในท้องถิ่นนี้ ขณะที่ท้องถิ่นอื่นไม่มี

ผู้บริหารที่ยึดมั่นในแนวทางนี้ มองว่า การทำธุรกิจบนหลักการนี้ ไม่จำเป็นต้องแข่งกับคนอื่นมากนัก ควรจะเน้นแข่งกับตัวเองมากกว่า ว่าจะสามารถสร้างสรรค์ความดีหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีที่สุดได้อย่างไร แล้วนำมาบอกเล่าให้ผู้บริโภคได้รับรู้ตามนั้น

สินค้ารับเทศกาลปีใหม่

เนื่องจากบรรยากาศโดยรวมและสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นรุนแรงหลายแห่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่าย ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลและระมัดระวังในการใช้จ่าย ถึงแม้จะห่วงใยในสุขภาพ แต่ผู้บริโภคจะคำนึงถึงเรื่องราคาด้วย ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงใกล้ๆ นี้ ควรจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้นง่ายขึ้น ให้สินค้ามีขนาดพอเหมาะและราคาไม่สูง เพื่อไม่ให้เกิดการลังเล

ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ผลผลิตทาง การเกษตรลดลง ซึ่งในปีหน้ามีแนวโน้มจะ เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ขณะนี้ บริษัทน้ำมันบอกว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ความหมายคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะเป็นช่วงของเศรษฐกิจที่ยากลำบากต่อจากเรื่องของน้ำท่วม และถึงแม้ว่าผู้บริโภคในบางกลุ่มที่มีกำลัง ซื้อ แต่เรื่องของอารมณ์มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องทำการบ้านให้ชัดตอบโจทย์ให้ถูกต้อง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เลือกซื้อได้

สำหรับสถานการณ์สินค้าของขวัญในเทศกาลปีใหม่นี้ น่าจะได้รับผลกระทบจากบรรยากาศโดยรวมที่ไม่ค่อยดีนัก อย่างไร ก็ตาม กระเช้าของขวัญที่มีราคาอยู่ในระดับ 1,000-1,500 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขายได้มาก ที่สุดในปีก่อนๆ น่าจะยังคงเป็นกลุ่มที่ขายดีที่สุดเช่นเดิม โดยการเลือกสินค้ามากระเช้า ของเลมอนฟาร์มนั้นยึดหลักสินค้าสำหรับบริโภคประจำวัน เช่น น้ำผึ้ง เนยงา ธัญพืชพร้อมชง ชา น้ำมันงา และข้าว แต่เน้นคัดเลือกสินค้าในระดับที่เป็นออร์แกนิก

"ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่มีชา ซึ่งชาหอม หมื่นลี้ได้รับความนิยมมากที่สุด ปีนี้จึงมี รสชาติใหม่อีก 2 รสคือชาดำกับชาเจียวกู่หลาน นอกจากจะเลือกสินค้าประเภทที่มีความ สะดวก ยังมีสินค้าที่นำไปประกอบอาหารได้ โดยเฉพาะข้าวสาร เพราะตามหลักสุขภาพ การบริโภคข้าวเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งข้าว ออร์แกนิกเฉพาะท้องถิ่นที่มีออกมามากขึ้น และมีคุณค่าที่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก เช่น ข้าวสังหยด ข้าวหอมนิล ทำให้ผู้รับได้รับสิ่งที่ดีๆ เพิ่มขึ้น"

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าพิเศษคือ "งานหัตถกรรมจากท้องถิ่น" ซึ่งผลิตเป็นสินค้าที่ใช้สอยได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีดีไซน์ใหม่ๆ แปลกตา ที่ทำขึ้นมาสำหรับเทศกาลของขวัญ เช่น ผ้าคราม ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายย้อมครามธรรมชาติและนำไปทอด้วยมือโดยมีกรรมวิธีตาม ปัญญาของชาวบ้าน ออกมาเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ผ้าอเนกประสงค์ และยังมีผ้าเช็ดตัวจากใยกันชง รวมทั้ง สินค้าใหม่ๆ เช่น โคมไฟสานเปลือกหวายจากชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาส โคมเทียนสัญลักษณ์มงคลงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาของเชียงรายจากศิลปินชั้นครู ซึ่งเน้นความประณีต และไม่ค่อยมีในท้องตลาดทั่วไป

โดยยังมี "จุดเด่น" ของบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ การใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติและนำไปใช้ซ้ำได้อีกด้วย ซึ่งในปีนี้ในส่วนของกระเช้าสุขภาพพิเศษ นำเสนอตะกร้าจักสานทรงไทยลวด ลายหายากจากชาวบ้านจังหวัดตราด ทำจาก "คลุ้ม" พืชตระกูลขิงข่า เพื่อต้องการช่วย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป เพราะคนรุ่นลูกหลานในท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าและไม่ได้สืบทอดองค์ความรู้ แต่เพราะลูกค้าของเลมอนฟาร์มชอบของแปลกไม่เหมือนใคร ของที่มีเรื่องราว และวัฒนธรรม การนำเสนอสินค้าแนวนี้ที่ผ่านมาจึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีและเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับต่อไป

อาหารแมคโครไบโอติก

ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามวิถีทางธรรมชาติเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น อาหารประเภทแมคโครไบโอติก ซึ่งเป็นการ นำศาสตร์แพทย์แผนจีนกับศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การอธิบายเรื่องความเป็นกรดเป็นด่างของอาหารซึ่งสอดคล้ดงกับสภาพร่างกายของคนเรา ซึ่งเลมอนฟาร์มเพิ่งจะเปิดเป็นร้านอาหารที่ให้บริการมาประมาณ 1 ปี โดยมีเมนูหลากหลายเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรับประทานได้อย่างมีความสุข ตามแนวทางหลักคือการที่จะทำให้ร่างกายสบาย แต่ไม่ละเลยความอร่อย รวมทั้ง การตั้งราคาไม่สูง ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มครอบครัวเท่านั้น แต่คนวัยหนุ่มสาวก็ให้การตอบรับอีกด้วย

เนื่องจากอาหารเพื่อสุขภาพมีหลายระดับ สำหรับอาหารแมคโครไบโอติกเองก็มีหลายระดับทั้งสำหรับคนธรรมดาทั่วไปและคนป่วย ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปและอเมริการู้จักและได้รับความนิยมมานานหลายสิบปีแล้ว สำหรับเลมอนฟาร์มที่สามารถเปิดร้านที่เรียกได้ว่าเป็นร้านอาหารออร์แกนิกและแมคโคร ไบโอติก มีการเตรียมตัวมา 4-5 ปีก่อนที่จะเปิดร้าน ทั้งความพร้อมเพื่อที่จะให้บริการได้ดีพอ และการสร้างความเข้าใจต่อผู้บริโภคผ่านสื่อจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

"เราพอจะพูดได้บ้างว่า เรามีส่วนทำให้ เกิดการบูมในเมืองไทย จะเห็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องนี้ออกมามาก สำหรับเป้าหมายของร้านนี้คือการบอกกล่าวถึงการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอีกแบบหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดจากวัตถุดิบที่มีไม่มากกับการปรุงที่ต้องใช้เวลามาก เช่น การเคี่ยวหรือตุ๋นนานเพื่อให้ความหวานออกมาจากวัตถุดิบที่ใช้ โดยไม่ต้องใช้น้ำตาล เพราะการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น การขยายร้านหรือการบริการเพิ่มขึ้น เช่น การส่งถึงบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย"

ผู้บริหารฯ ย้ำว่า การทำธุรกิจต้องทำด้วยหัวใจและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม เมื่อทำด้วยหัวใจก็ไม่ต้องเน้นแข่งกับคนอื่น แต่เน้นแข่งกับตัวเองทำผลิตภัณฑ์ดีๆ ให้กับทุกคน ก็จะทำให้เมืองไทยน่าอยู่ การทำประโยชน์ในระหว่างทางของการทำธุรกิจ ทำให้ผู้ผลิตอื่นๆ ได้ประโยชน์ร่วมด้วย และการให้ผู้บริโภคได้สิ่งดีๆ ยังทำได้อีกมาก ซึ่งจะส่งผลมากมายกลับมายังธุรกิจ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล