หนังสือพิมพ์สยามรัฐ [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
กรมอนามัยเปิดมาตรการเชิงรุก รณรงค์ "เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว"


ไอโอดีน มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ของร่างกายและสมอง ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างปกติ โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 2 ขวบ หากขาดสารไอโอดีนจะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลดความเฉลียวฉลาด หรือระดับสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็กได้ถึง 10-15 จุด ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน และกระทบต่อการเจริญเติบโต ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงจะเป็นโรคเอ๋อและคอโต หรือคอพอก

จากการสำรวจไอคิวของคนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ.2551-2552 พบไอคิวเฉลี่ย 91 จุด (ไอคิวเฉลี่ยปกติ 90-110 จุด) อีกทั้งผลการสำรวจพัฒนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบพัฒนาการสมวัยลดลง โดยปี 2542 มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 72 ปี 2547 ร้อยละ 71 และปี 2550 ลดลงเหลือร้อยละ 67

กรมอนามัย ได้สำรวจสถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2550-2552 พบสัดส่วนระดับไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ที่ต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นร้อยละ 61.2,58.5 และ 59.0 ตามลำดับ รวมทั้งค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะหญิง ตั้งครรภ์น้อยกว่าปกติเป็น117.8 ไมโครกรัมต่อลิตร (พ.ศ.2552) ความครอบคลุมเกลือเสริมไอโอดีนร้อยละ 77.4 (พ.ศ. 2552)และระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ในทารกแรกเกิด ที่มากกว่า 11.2 มิลลิยูนิตต่อลิตร เป็นร้อยละ 15.2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พ.ศ.2551) ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยยังมีภาวะการพร่องสารไอโอดีน ดังนั้น การให้ความสำคัญของไอโอดีนต่อสติปัญญาและคุณภาพชีวิตคนไทย ยังคงเป็นเป้าหมายที่ควรพัฒนาและดำเนินการอย่างจริงจัง

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงมีการพยายามรณรงค์ และส่งเสริมให้มีการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์หญิงให้นมบุตร เพราะการใช้เกลือเสริมไอโอดีน เป็นวิธีการช่วยขจัดปัญหาการเป็นโรคขาดสารไอโอดีนและแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่เกลือเสริมไอโอดีนส่วนหนึ่งก็มีปัญหาคุณภาพการผลิตต่ำกว่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2537 กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัม ต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม แต่พบว่า มีเกลือบริโภคส่วนหนึ่งที่มีปริมาณไอโอดีนอยู่ที่ประมาณ 10-20 มิลลิกรัม ต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัมบ่งชี้ให้เห็นว่าการควบคุมคุณภาพการผลิตยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่จึงต้องมีการเร่งรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเป็นนโยบายในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ หวังเร่งแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนใน 2 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มทารกแรกเกิด พร้อมลงนามประกาศกระทรวง 4 ฉบับ โดยบังคับให้บริโภคเกลือ น้ำปลา เกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรส จะต้องใส่ไอโอดีนด้วย เพื่อให้เป็นตามนโยบาย "เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว"นอกจากนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดมาตรการเสริมในการรณรงค์บริโภคไอโอดีนด้วยการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม โดยใช้สารละลายไอโอดีนเข้มข้น 2 หยด ในน้ำดื่ม 10 ลิตรจะทำให้ได้รับไอโอดีน 200 ไมโครกรัมในน้ำดื่ม1 ลิตร ดำเนินการในพื้นที่ทุรกันดาร ตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และการเสริมสารอาหารสำคัญในหญิงตั้งครรภ์ โดยมีนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับ"ยาเม็ดเสริมสารอาหารสำคัญ" ในปีงบประมาณ2554 เป็นต้นไป ซึ่งรับบริการที่คลินิกฝากครรภ์ณ สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ซึ่ง องค์การเภสัชกรรม จะผลิตยาเม็ดเสริมสารอาหารสำคัญที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน โฟเลท และธาตุเหล็กตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WTO)และปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย (DRI)

อย่างไรก็ตาม ด้วยการรณรงค์ที่เข้มข้น และเดินหน้ามาตรการเชิงรุกเช่นนี้ ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะหมดไปจากประเทศไทย ผนวกกับเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกหลักจากครอบครัวอบอุ่น เด็กจะเจริญเติบโตเต็มศักยภาพมีพัฒนาการสมวัยมีเชาวน์ปัญญาที่พัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น และ เป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

"ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะหมดไปจากประเทศไทยผนวกกับเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกหลักจากครอบครัวอบอุ่นเด็กจะเจริญเติบโตเต็มศักยภาพมีพัฒนาการสมวัย"




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล