หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
อยู่อย่างไรให้ถึง 100


งานวิจัยชิ้นสำคัญจากออสเตรเลียได้ไขความลับการมีอายุยืนถึง 100 ปี โดยเป็นผลมาจากบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตมากกว่าปัจจัยด้านพันธุกรรม

งานวิจัย Australian Centenarian Study ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์(UNSW) ได้ค้นพบว่าการมองโลกในแง่ดี การมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในสังคม รวมถึงการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีอายุยืนยาว คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าคนแก่อายุ 100 ปีจะต้องอ่อนแอและใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง แต่ในความเป็นจริง ผู้สูงอายุในออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง มีความตื่นตัวทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บและสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องเป็นภาระผู้อื่น


ในอดีตเชื่อกันว่าการมีอายุยืนยาวนั้นพบได้แต่ในชุมชนที่แยกตัวเองจากโลกภายนอก เช่นบนเกาะโอกินาว่า นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น หรือเขตเทือกเขาของซาร์ดีเนีย เนื่องจากประชากรจะมีการกินอยู่ที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มองโลกในแง่ดีและมียีนที่แข็งแรง แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดระบุว่าคนเราสามารถมีอายุเกิน 100 ปี ได้ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ส่วนใดของโลก โดยเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตที่ทำให้อายุยืนยาวขึ้น แม้จะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีการแข่งขันสูงก็ตาม

ศจ. Robyn Richmond พร้อมด้วย ดร. Charlene Levitan และ ศจ. Perminder Sachdev จาก UNSW ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยเปิดเผยว่า "สิ่งที่เราค้นพบคือ คนอายุเกิน 100 ปี จะมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ผ่านพบกับความยากลำบากของชีวิตมามาก เช่น การสูญเสียคนที่รัก การย้ายถิ่นที่อยู่ ภัยพิบัติและสงคราม แต่ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ เนื่องจากมีความยืดหยุ่น รู้จักปรับตัวและเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง"

ศจ. Richmond และทีมงานได้ศึกษาชาวออสเตรเลียที่มีอายุถึง 100 ปี จำนวน 188 คน และพบว่ายีนมีผลต่อความเป็นไปได้ที่จะมีอายุยืนถึง 100 ปีเพียงประมาณ 20-30% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 70-80% นั้นเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อม โดยในการวิจัยครั้งนี้พบว่าปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือด้านบุคลิกภาพ

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีจำนวนประชากรสูงอายุมากขึ้น และด้วยความก้าวหน้าทางด้านโภชนาการและการแพทย์ นักประชากรศาสตร์บางคนเชื่อว่าประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่เกิดในวันนี้มีโอกาสจะมีอายุยืนถึง 100 ปีในอนาคต

"ทุกคนต่างตื่นเต้นกับความลับสู่การมีอายุยืนยาวจนเกิดคำถามขึ้นมากมาย เช่น การอยู่ถึง 100 ปีคุ้มค่าหรือไม่ คนอายุยืนมีอะไรต่างจากคนทั่วไป และทำอย่างไรจึงจะมีอายุยืนยาว เป็นต้น" ศจ.Richmond กล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ล้มล้างความเชื่อเก่าๆ บางประการเกี่ยวกับการมีอายุยืนยาว เช่น ความเชื่อที่ว่าการจะมีอายุยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับโรคเรื้อรังบางอย่าง หรือที่ว่าคนสูงอายุจะเป็นภาระต่อผู้ดูแลและระบบสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีจะมีภูมิต้านทานโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆ ค่อนข้างต่ำ เช่นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อม และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวอย่างน้อยหนึ่งถือสองครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มที่จัดขึ้นเป็นประจำ

งานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยด้านจิตเวชสาธารณสุขและการแพทย์ชุมชนของ UNSW และได้นำเสนอต่อที่ประชุมสหพันธ์นานาชาติเพื่อผู้สูงอายุ ที่จัดขึ้นในกรุงเมลเบิร์นเมื่อเร็วๆนี้ ภายในปีนี้ UNSW จะจัดการประชุมเรื่องผู้มีอายุเกิน 100 ปีในออสเตรเลีย-เอเชียเป็นครั้งแรก เพื่อค้นหาศาสตร์แห่งการมีอายุยืนยาวอย่างแข็งแรงและผลของการมีอายุยืนยาวที่มีต่อตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน ในออสเตรเลียตัวเลขของผู้มีอายุเกิน 100 ปีได้เพิ่มขึ้นถึง 26% ในช่วงปี 2001 และ 2006 ในขณะที่จำนวนประชากรโดยรวมลดลง 5.8%




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล