หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
เอาแอสเบสตอสคืนไปเอาสุขภาพคนไทยคืนมา




รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัย หากเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา สินค้าอะไรที่ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เสียชีวิต พิการ หรือเจ็บป่วยเห็นได้ชัดเจนเรื่องก็คงไม่ซับซ้อน หรือมีข้อโต้แย้ง มาตรการสำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็คือการเพิกถอนหรือห้ามการใช้

ในวงการสุขภาพ มีตัวอย่างเรื่อง ยาเป็นจำนวนมาก ที่เมื่อพบว่า หรือเมื่อประเมินแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยก็จะเพิกถอน หรือห้ามการใช้ แต่ยาเป็นสินค้าที่แตกต่างกว่าสินค้าโดยทั่วไป เช่น อาจต้องมีผู้สั่งใช้ ใช้เมื่อเจ็บป่วย ใช้โดยตรงต่อร่างกาย มียาหลากหลายเป็นจำนวนมากชนิด รัฐจึงให้มีหน่วยงานที่มาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างหน่วยงาน และบางครั้งมีการกำหนดขอบเขตอำนาจที่ไม่แยก แยะชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ยากลำบากมากขึ้นที่จะบ่งบอกว่าหน่วยงานใดที่จะตัดสินใจเรื่องความเป็นอันตรายในขอบเขตมากน้อยเพียงใด

กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทในการดูแลมาตรฐานของสินค้า เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ) ก็มุ่งดูแลคุณภาพ ความคงทน แต่ มิติด้านความปลอดภัย ก็อาจจะตามไม่ทันหรือไม่เชื่อในเรื่องการประเมินความปลอดภัย หรืออาจมีพื้นฐานในการประเมินความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้บริโภค ในสมัยที่ท่านรัศมีวิศทเวทย์ เป็นเลขาธิการ สคบ. มีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 14/2551 เรื่อง ห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการห้ามขายโดยถาวร แท้จริงแล้ว ประเทศไทยน่าจะมีกฎหมายเฉพาะที่ปกป้องประชาชนจากสารพิษเหล่านี้ ดังเช่น ในสหรัฐอเมริกาที่ออกเป็นกฎหมายเฉพาะ เรื่อง Lead Contamination Control and Asbestos Information Act 1988

วันนี้ มีปัญหาอันตรายจากแร่ใยหิน เช่นเดียวกับปัญหาตะกั่ว ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยจาก

สินค้าที่มีแร่ใยหิน หรือแอสเบสตอส คณะกรรมการฉลาก ในขณะนี้ซึ่งมี ท่านนิโรธเจริญประกอบ เป็นเลขาธิการ สคบ. ได้กำหนดให้มีคำเตือนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคปอด บนสินค้าที่มีแร่ใยหิน ผลปรากฏว่า ผู้ประกอบการได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ สคบ.ใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งศาลไม่รับคุ้มครองชั่วคราว

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะไม่ให้มีแร่ใยหินในสินค้าเกิดขึ้นก่อนเนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีระบบด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการศึกษาด้านระบาดวิทยาการแพทย์ที่พัฒนามานานกว่า ประเทศในเครือสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ชี้ชัดว่าแอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งและการป้องกันไม่ได้ผล จึงมีการประกาศยกเลิกการใช้ใน 52 ประเทศทั่วโลก

การที่คณะกรรมการฉลาก กำหนดให้สินค้าที่มีแร่ใยหิน ต้องติดฉลากคำเตือนแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะให้สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยจากสินค้าที่มีแร่ใยหิน แต่มาตรการการยกเลิกการผลิตและการนำเข้าแร่ใยหินก็ต้องทำให้เกิดมีการดำเนินการรัฐมนตรีฯ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแล สคบ. ได้ตั้งอนุกรรมการ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงมาตรการที่จะแก้ปัญหา ขณะนี้มีข้อเสนอให้ยกเลิกการผลิตและการนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) และข้อเสนอให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ได้เสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว หากศึกษาบทเรียนเรื่องถังน้ำเย็นและหม้อก๋วยเตี๋ยวที่มีการใช้

สารตะกั่วบัดกรีในการผลิต และต่อมาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศห้ามขายถังน้ำเย็นและหม้อก๋วยเตี๋ยวที่มีการใช้สารตะกั่วบัดกรีในการผลิต ในกรณีแร่ใยหินคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรประกาศห้ามขายสินค้าบางชนิดที่มีแร่ใยหิน ที่อาจมีผลกระทบโดยตรงเป็นการเริ่มต้นก่อน เช่นเครื่องเป่าผม เครื่องอบผม เบรก คลัตช์ ที่มีการใช้แร่ใยหิน เพราะอนุภาคของแร่ใยหินจากการใช้สินค้าดังกล่าวสามารถกระจายและเข้าสู่ปอดได้และอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง

จึงคาดหวังว่า ภายใต้ปีเศษที่ผ่านมาของการขับเคลื่อนสังคมในเรื่องนี้ ทั้งภาควิชาการภาคประชาสังคม ภาคบังคับใช้กฎหมายได้สานพลังอย่างเข้มแข็ง คงเหลือแต่ภาคการเมืองที่จะทำการตัดสินใจให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินอย่างแท้จริงตามสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัย




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล