หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
1001=หนึ่ง-ศูนย์-ศูนย์-หนึ่ง: พลังการคำนวณจากแบคทีเรีย


ถ้าเอ่ยถึงแบคทีเรีย หลายท่านคงนึกถึงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้หลายแบบ เช่น ใช้ทำอาหารหมัก ใช้ย่อยสลาย หรือจะทำตัวเป็นโทษ เช่น ทำให้เกิดโรค ทำให้อาหารเสีย ก็เป็นได้

แบคทีเรียตัวเล็กจิ๋วนี้เติบโตด้วยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ และแบ่งแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

จนมาวันนี้แบคทีเรียเริ่มแบ่งตัวขยายอาณาเขตของมันจากอาณาจักรทางชีววิทยา คืบคลานเข้าสู่โลกคอมพิวเตอร์โดยอาศัยความล้ำหน้าของศาสตร์ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปรับปรุงแบคทีเรียให้แปลงร่างเป็นอุปกรณ์ที่เลียนแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้แบคทีเรียทั้งฝูงทำงานให้เราได้

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาเสนองานวิจัยในวารสารวิศวกรรมชีวภาพ-Journal of Biological Engineering-(http://www.jbioleng.org/content/3/1/11/abstract) โดยเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของแบคทีเรียอีโคไลเพื่อให้แบคทีเรียสามารถคำนวณหาเส้นทางแบบแฮมิลตัน (Hamiltonian Path) ได้


เจ้าอีโคไลในงานวิจัยนี้คำนวณอะไรออกมาครับ?

ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ ของปัญหาการหาเส้นทางแบบแฮมิลตัน คือ การหาเส้นทางเดินจากที่เริ่มจากเมือง ๆ หนึ่ง ไปยังทุก ๆ เมือง โดยผ่านแต่ละเมืองเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ถ้าจะเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ ก็คือ การเดินทางไปยังทุก ๆ จังหวัดในประเทศไทย โดยผ่านจังหวัดละเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ห้ามผ่านเกินหนึ่งครั้ง

ผลการทดลองจากงานวิจัยนี้พบว่าแบคทีเรียสามารถหาคำตอบของคำถามนี้ด้วยการสลับลำดับส่วนของดีเอ็นเอเพื่อหาเส้นทางแบบแฮมิลตันของเมืองสามเมืองที่เชื่อมต่อกันหมดได้

ถึงแม้ว่า งานวิจัยนี้จะเป็นความพยายามขั้นแรกในการหาคำตอบของปัญหาเล็ก ๆ แต่ก็ถือเป็นงานวิจัยที่แสดงว่า เราสามารถนำแบคทีเรียมาใช้เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นวงจรเล็ก ๆ เพื่อคำนวณตามที่มนุษย์ต้องการได้

และหากเราสามารถนำวงจรเล็ก ๆเหล่านี้ มาต่อเชื่อมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยแบคทีเรียกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เราจะสามารถนำแบคทีเรียทั้งกลุ่มนี้ไปทำงานแทนวงจรที่ผลิตจากซิลิกอนได้ในอนาคต

แบคทีเรียแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด ต่อไปเรื่อย ๆ

"ไม่แน่นะครับ...เราอาจได้เห็นพลังการคำนวณมหาศาลที่ขยายตัวเองเป็นสองเท่าได้เรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้".

สุกรี สินธุภิญโญ(sukree.s@chula.ac.th) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล