หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
หญิงเผชิญโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าชาย 2 เท่า


ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงว่า ในปี พ.ศ.2552 ผู้หญิงมีโรคประจำตัวที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า โดยมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้รวมทั้งสิ้น 4,044,260 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับโรคที่สามารถป้องกันได้เช่นนี้...

นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัตน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยถึงปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แสดงอัตราการเกิดโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศโลกตะวันตก หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งน่าจะเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก

สำหรับข้อมูลสถิติจากกระทรวงสาธาณสุขในประเทศไทยนั้น แสดงว่าโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการตายอับดับสองในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ รองจากอุบัติเหตุ โดยถ้าดูเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเองแล้ว สาเหตุการตายอันดับหนึ่งและสองในกลุ่มนี้ใกล้เคียงกันมากคือ การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจดูเหมือนกำลังเพิ่มขึ้น โดยความชุกของการวินิจฉัยผู้ป่วยว่ามีโรคหัวใจโดยแพทย์ จากการสำรวจพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2548 เป็น 0.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2550

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาจากหลายปัจจัย เช่น ความอ้วน ความเครียด รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้แน่ชัดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญ คือ อายุ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ล้วนทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ และปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน

สำหรับอาการที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก ลักษณะคล้ายมีน้ำหนักกดทับหรือรัดแน่นที่หน้าอก บางคนอาจจะมีอาการร่วมกับหน้ามืด เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ได้ หรืออาการหอบเหนื่อยก็เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อโรคหัวใจ แต่ถ้าหากมีอาการดังกล่าวก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยแพทย์อาจแนะนำการตรวจหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง ตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ตรวจภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ และกรณีที่มีอาการมากแพทย์อาจตรวจเลือดดูว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรืออาจทำการตรวจสวนหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน ซึ่งหากผลการตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็จะแนะนำการรักษาที่แตกต่างไปแต่ละบุคคล ขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบและสุขภาพของผู้ป่วย โดยอาจแนะนำตั้งแต่ให้กินยา หรือรับการรักษาขยายหลอดเลือดหัวใจโดยการถ่างขยายด้วยลูกโป่ง หรือบอลลูนขนาดเล็ก ไปจนกระทั่งแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อทางเบี่ยงเส้นเลือดหรือบายพาสหลอดเลือดหัวใจในกรณีที่จำเป็น

สำหรับสตรีที่เป็นโรคหัวใจที่กลัวการสวนหัวใจด้วยวิธีเดิมที่ต้องทำการสวนหัวใจเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถลุกหรือขยับได้ภายใน 12 ชั่วโมง และต้องนอนรพ.ต่ออีก 1 คืน แต่ปัจจุบันการรักษาก้าวหน้าไปมากแพทย์สามารถทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือได้ โดยใช้เวลาพักฟื้นสั้นลงแค่ 6-8 ชม. และทราบผลการตรวจได้ทันที อีกทั้งหากต้องทำการขยายหลอดเลือด ก็สามารถทำบอลลูนพร้อมใส่ขดลวดโดยสอดสายสวนเข้าทางข้อมือได้เมื่อคลำชีพจรแล้วแรงพอ วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยหญิงที่มีปัญหาปัสสาวะบ่อยๆ ไม่สามารถนอนนานๆ ได้รับความสะดวกระหว่างการสวนหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลังการรักษาสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ทันที

นพ.ปัญเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายถึงอันตรายจากโรคหัวใจว่า มีความน่ากลัวใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อรู้ถึงอันตรายและสาเหตุแล้วก็อย่านิ่งนอนใจ พยายามดูแลสุขภาพตนเอง ไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งการป้องกันก็ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นโรคหัวใจแล้วก็ควรรักษาโดยเร็ว เพราะความรู้และวิทยาการในปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจได้อย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและสุขภาพจนสายเกินไป

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com






 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล