หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันศุกร์ ที่ 12 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
ลอยกระทงปีนี้ไร้บุหรี่-เหล้า


สธ.ผนึก สสส. องค์กรอนามัยโลก ประกาศ 5 เจตนารมณ์ลอยกระทงปลอดเหล้า-บุหรี่ ปี 53 บอยคอตบริษัทน้ำเมา-เปิดพื้นที่ปลอดภัย ขยายพื้นที่จัดงาน 4 ภาคทั่วไทย

ที่โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรอนามัยโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยง ในงานประเพณีลอยกระทงปลอดเหล้า-บุหรี่ ปี 2553


นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันเทศกาลลอยกระทงเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งในเรื่องของบุหรี่ เหล้า เบียร์ อุบัติเหตุ รวมไปถึงการเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ การปล่อยโคมลอยด้วยความคึกคะนองและขาดการควบคุม จนถูกระบุว่าเป็นเทศกาลแห่งการเมา-เจ็บ-ตาย-เสียตัว ทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจคุณค่าความหมายที่แท้จริงของการจัดงานประเพณีที่ดีงาม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้

1.ร่วมกันประกาศนโยบายจัดงานประเพณี ลอยกระทงปลอดเหล้า-บุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน 2.ไม่สนับสนุนให้บริษัทเหล้า เบียร์ บุหรี่ โฆษณาสินค้าหรือทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายในพื้นที่จัดงาน 3.จัดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดเหล้า-บุหรี่ 4.ส่งเสริมกิจกรรมที่คงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 5.ส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการและแนวทางในการปกป้องเด็กและเยาวชนให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทุกวิถีทางร่วมกัน

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ในฐานะที่ปรึกษา สสส. กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สสส. ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้สังคมเปลี่ยนค่านิยมในการจัดงานประเพณีให้เป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์ พบว่าสามารถลดจำนวนครั้งและความรุนแรงของอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นในงานได้ โดยปี 2552 มีผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลลดลงถึง 10% และประชาชนกว่า 95% พอใจให้การจัดงานเทศกาลลอยกระทงปลอดเหล้า ปี 2553 จึงขยายพื้นที่จัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าครอบคลุม 4 ภาค รวม 13 จังหวัด อาทิ ลอยประทีปวัดอรุณ รำลึกคุณเจ้าพระยา ไม่พึ่งพาแอลกอฮอล์ ที่ถนนวังเดิม และภายในวัดอรุณราชวราราม กทม.

นพ.ชัย กฤติยาภิชาตกุล ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยกว่า 17 ล้านคนสูบบุหรี่ และเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งคนไทย 65.6% ยังคงสัมผัสควันบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่ครอบคลุมแล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายน้อยมาก จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหา




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล