ผู้จัดการออนไลน์ [ วันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
เด็กมหา'ลัย 53% เริ่มสูบบุหรี่เพราะอยากลอง “ศิลปิน-ดารา” ตัวอย่างไม่สูบบุหรี่


เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับ สสส.สำรวจชัด เด็กมหาวิทยาลัย 53% เริ่มสูบบุหรี่เพราะอยากลอง อีก 23.4% ตามเพื่อน 2.8% เลียนแบบคนในบ้าน เริ่มสูบอายุ 18 ปี วอนสร้างตัวอย่างที่ดีให้สังคมเริ่มที่ครอบครัว โรงเรียน บุคคลในสังคม 19 พ.ย.นี้ คึกคัก ศิลปิน ดารา ตบเท้ารับรางวัลต้นแบบปลอดบุหรี่

วันที่ 5 พ.ย.ที่ โรงแรมสยามซิตี้ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “พิธีมอบรางวัลศิลปิน ดารา และสื่อสารมวลชนเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่” ครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย.ที่ ห้องประชุมสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี (ซอยศูนย์วิจัย)


ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า พฤติกรรมการลอกเลียนแบบการสูบบุหรี่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคือ พื้นฐานครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันสร้างตัวอย่างที่ดี เริ่มที่ครอบครัว ครู อาจารย์ บุคคลตัวอย่างในสังคม เพราะการเห็นพฤติกรรมซ้ำๆ จากผู้ปกครอง คนใกล้ชิด เพื่อน ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความอยากลองได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีพื้นฐานที่คนในครอบครัวสูบบุหรี่ มีแนวโน้มอยากทดลองสูบบุหรี่ง่ายเมื่อถูกเพื่อนชักชวน หรือเห็นเพื่อนสูบ ทั้งนี้ สสส.ได้สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่มานานกว่า 6 ปี มีเครือข่ายบุคลากรด้านสาธารณสุข 18 สาขาวิชาชีพ ทำงานร่วมกันเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ต่อสุขภาพ การป้องกัน ฟื้นฟู ให้คำปรึกษา ให้บริการผู้อยากเลิกสูบบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างคนต้นแบบจะทำให้เยาวชนไทยมีแบบอย่างในการปฏิเสธอบายมุข

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า การมอบรางวัลกับบุคคลที่เป็นที่ชื่นชอบในสังคมถือเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดี วัยเด็ก และเยาวชน มักมีดารา นักร้องเป็นต้นแบบและจะสามารถชักชวนและสร้างทัศนคติให้เด็กและเยาวชนไม่อยากทดลองสูบบุหรี่ได้ และยังเป็นกำลังใจให้กับศิลปิน นักแสดง คนในวงการบันเทิง มีพลังร่วมรณรรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ต่อไป โดยเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้มอบรางวัลศิลปิน ดารา ที่เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนในด้านการไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ นายปัญญา นิรันดร์กุล, นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือโย่ง เชิญยิ้ม, ไชยา และ แอน มิตรชัย, จ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม, เอก-รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็, กวาง-น็อต เขมะโยธิน, ศิลปินจาก AF

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักศึกษา มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีปีที่ 1-4 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2552 จำนวน 1,000 คน พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่ 320 คน หรือ 32% เป็นเพศชาย 265 คน เพศหญิง 55 คน ส่วนมากเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุ 18 ปี สาเหตุที่เริ่มสูบมากที่สุดคือ อยากลอง 53.8 % ทำตามเพื่อน 23.4% เข้าสังคม 9.4% คลายเครียด 4.1% ความโก้เก๋ เท่ห์ 3.8% ทำตามคนในบ้าน 2.8% อยากเด่นในสายตาเพื่อน 1.6% และแสดงความเป็นผู้ใหญ่ 1.2%

“รอบปีที่ผ่านมา มีกลุ่มตัวอย่างอยากเลิกบุหรี่ถึง 59.1% โดยสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างชายอยากเลิกสูบบุหรี่เพราะบุหรี่ราคาแพง 8.5% ส่วนกลุ่มตัวอย่างหญิงอยากเลิกเพราะคนใกล้ชิดแนะนำ 1.8% ดังนั้นในมหาวิทยาลัยควรมีหน่วยงานช่วยเหลือให้คำแนะนำนักศึกษาที่อยากเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้คำแนะนำแนวการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ 88% ทราบถึงอันตรายการได้รับควันบุหรี่มือสอง อีกกว่าครึ่งคือ 68.4% เห็นด้วยว่า ควรให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้านนายรังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง หนึ่งในนักแสดงที่ได้รับรางวัล กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชน เพราะตลอดมาตนมีตัวอย่าง คือคุณพ่อ ที่ไม่สูบบุหรี่ ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่จะปฏิเสธไม่เคยอยากลองสูบบุหรี่เลย อยากบอกไปถึงเยาวชน และวัยรุ่นว่า ถ้าอยากเท่ห์ อยากเป็นที่ยอมรับ ไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่ เพราะตลอดมาตนไม่เคยสูบบุหรี่ ใช้เวลาว่างเล่นดนตรี กีฬา ก็มีคนยอมรับและรู้สึกเท่ห์ได้ การสูบบุหรี่อันตรายเป็นจุดเริ่มต้นของยาเสพติดชนิดอื่น อย่านับหนึ่งเพราะจะไม่สามารถหยุดได้ หากมีเพื่อนหรือรุ่นพี่มาชวน ก็ให้หนักแน่นและปฏิเสธไปว่า “ไม่เป็นไร” เท่านั้นพอ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล