ผู้จัดการออนไลน์ [ วันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
สปส.แจง “อะทาซานาเวียร์” ให้เฉพาะผู้ป่วยบัตรทอง


สปส.โต้ยา “อะทาซานาเวียร์” มีอยู่ในระบบประกันสังคม แจงเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์เข้าใจผิด สปสช.เผย ยาดังกล่าวเป็นยาสั่งจ่ายเฉพาะ-ราคาแพง มีผู้ป่วยบัตรทองใช้ราว 300 คน

จากกรณีมูลนิธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ร้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอยาต้านไวรัสจากยาคาเรตต้า เป็น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณไขมันและน้ำตาลในเลือดลดลง ขณะที่ยาตัวเดิมไม่ช่วยในเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏว่า แพทย์ไม่สามารถสั่งจ่ายยาตัวนี้ได้ เนื่องจากไม่ใช่ยาที่ประกันสังคมกำหนดให้แพทย์จ่าย ทั้งๆ ที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สิทธิสวัสดิการข้าราชการ กลับเบิกจ่ายยาชนิดนี้ ซึ่งนับเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า การเปลี่ยนยาตัวใดตัวหนึ่งให้กับผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมนั้น แพทย์ไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ แต่จะต้องแจ้งความประสงค์การขอเปลี่ยนตัวยาใหม่มายัง สปส.หลังจากนั้น สปส.จะจ่ายยาดังกล่าวให้กับแพทย์ ทั้งนี้สาเหตุที่แพทย์ไม่สามารถเปลี่ยนยาตัวใหม่ให้กับผู้ประกันตนได้ทันที เนื่องจากในขั้นตอนการจ่ายยานั้น สปส.ไม่ได้จ่ายยาลงไปทั้งหมด แต่จะดูจากประวัติการรักษาว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาประเภทไหน ชนิดใดและจำนวนเท่าไหร่ โดยมีการกำหนดปริมาณการจ่ายยาในลักษณะของใครของมัน

“คิดว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะสื่อสารกันคลาดเคลื่อนระหว่างแพทย์กับผู้ประกันตน ทั้งนี้หากจะกล่าวอ้างว่าแพทย์ไม่สั่งจ่ายยาอะทาซานาเวียร์ให้กับผู้ป่วยได้ เพราะยาดังกล่าวอยู่นอกเหนือสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมเห็นว่าไม่น่าเป็นความจริง” นายปั้น กล่าว

ด้าน นพ.สรกิจ ภาคีชีพ ผู้จัดการกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยวัณโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยาอะทาซานาเวียร์ เป็นยาในสูตรดื้อยาขั้นพื้นฐาน (Second-line) ในกลุ่มเดียวกับยาโลพินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ หรือชื่อทางการค้า “คาเรตต้า” ซึ่งโดยปกติ สปสช.จะจ่ายยาสูตรโลพินาเวียร์ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้แก่ผู้ป่วยทั่วไป ยกเว้นแต่ผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากยาโลพินาเวียร์ คือ ไขมันในเลือดสูง จนไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องหันมาใช้ยาอะทาซานาเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ต้องมีข้อบ่งชี้ในการใช้ และต้องสั่งจ่ายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สปสช.ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ติดเชื้อรับประทานยาต้านไวรัสอะทาซานาเวียร์ทั้งหมด เป็นเพียงกรณีที่มีข้อบ่งชี้ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อใช้ยาชนิดนี้เพียง 300 กว่ารายจากทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนรับยาประมาณ 150,000 ราย

นพ.สรกิจ กล่าวด้วย เหตุที่ต้องจำกัดการใช้ยาอะทาซานาเวียร์ เพราะเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างแพง ตกค่าใช้จ่ายเดือนละ 6,000 บาท ขณะที่ยาโลพินาเวียร์อยู่ที่เดือนละ 3,000 บาท ที่สำคัญ ยาทั้งสองชนิดประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน เพียงแต่ยาอะทาซานาเวียร์จะลดปัญหาไขมันในเลือดเพิ่มสูงได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อที่ใช้ยานี้มีไม่มากราว 300 กว่าคน แต่ผู้ป่วยทุกคนจะใช้ยานี้ได้ ต้องขึ้นอยู่กับอาการบ่งชี้และการวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น

ขณะที่ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา งานวิจัยยาต้านไวรัสมักเป็นของต่างประเทศ และมีการทดลองในคนต่างชาติที่มีเผ่าพันธุ์แตกต่างจากคนไทย อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยอยู่ระหว่างวิจัยความแตกต่างระหว่างคนไทยและต่างชาติต่อปริมาณการรับ ยาอะทาซานาเวียร์ เบื้องต้นพบว่าคนไทยอาจได้รับยาในปริมาณสูงกว่าต่างชาติร้อยละ 30 แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุป ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ แพทยต้องห้ามลดปริมาณยาโดยเด็ดขาด เพราะจะมีผลต่อการรักษา




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล