หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
กรมควบคุมโรคเผยปีนี้หนาวจัด มีหลายปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยง่ายย้ำ!! ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง


กรมควบคุมโรค เผย!!ปีนี้หนาวจัดและหนาวนาน มีหลายปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย แนะ ต้องจริงจังที่จะดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เลี่ยงสิ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ย้ำ!! ระวัง 6 โรคที่พบบ่อยในช่วงหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วงรวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยภัยหนาว

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน และหลังจากน้ำลดก็เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์เอาไว้ว่าหน้าหนาวปีนี้ประเทศไทยจะมีอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี และจะหนาวนานกว่าทุกปี นอกจากปัจจัยจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากกว่าปกติแล้วยังมีปัจจัยทางด้านอื่นๆ ที่อาจ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่ายได้แก่ จากสภาพแวดล้อมที่มีเศษขยะและสิ่งปฏิกูลตกค้างหลังน้ำท่วม จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของของเชื้อโรคต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในหลายๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่อาจจะยังขาดความพร้อมในการให้บริการทางด้านการรักษาและการดูแลสุขภาพประชาชน ดังนั้นการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประชาชนจะได้หันมาดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างจริงจังมากขึ้น

นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า 6 โรคที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงหน้าหนาวนี้ ได้แก่โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง และโรคผิวหนัง รวมถึงการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากอากาศที่หนาวเย็น ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนกรมควบคุมโรคจึงได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันโรคและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาวนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจาง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย และเมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรมีการดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษด้วยการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ โดยเฉพาะในเด็กที่สภาพร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามสภาพอากาศ ให้ใส่ถุงเท้า หมวกไหมพรม หากไม่มีให้ใส่เสื้อผ้าหลายๆชั้นและห่มผ้าให้หนามากกว่าปกติ รวมทั้งต้องเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทแป้งและไขมันเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย ใส่ใจเรื่องการดื่มน้ำและเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแล้วยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกายด้วย

ที่สำคัญประชาชนควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การดื่มสุรา ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้ร่างกายอบอุ่นแล้วยังมีผลเสียทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ควรหลีกเลี่ยงการผิงไฟในเต้นท์เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษจากควันไฟเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปใกล้บริเวณที่มีการก่อกองไฟเพราะควันไฟจะระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจของเด็ก ไม่ควรนอนในที่โล่งแจ้ง ลมโกรกโดยไม่มีเครื่องป้องกันให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดเพราะจะมีโอกาสได้รับเชื้อโรคได้ง่าย ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องใส่ใจในการป้องกันร่างกาย เช่น การล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัยเป็นต้น

ทั้งนี้ การใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิดอย่างจริงจังและสม่ำเสมอด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำนอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีและร่างกายแข็งแล้วยังช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคทำให้สามารถรับมือกับโรคภัยต่างๆ ที่มาพร้อมกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล