หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
เทคโนโลยีใหม่ 'รักษามะเร็ง'


วิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้คนเราเสียสมดุลในการใช้ชีวิต จนโรคร้ายถามหา หนึ่งในโรคยอดฮิตที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยยุคโลกาภิวัตน์ คือ "มะเร็ง”

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เชื่อว่าแทบทุกคนต้องวิตกกังวลอย่างหนัก สมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้การรักษาตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคโนโลยีทันสมัยที่ โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็ง ของโรงพยาบาลกรุงเทพ นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย คือ เทคโนโลยี VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy)

รักษาตรงจุดมากขึ้น VMAT เป็นเทคโนโลยีใหม่ใน


การฉายรังสีรักษา ซึ่งให้ปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ดี พร้อมทั้งสามารถลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉายรังสีถูกเนื้อเยื่อปกติให้น้อยลง การฉายรังสีแบบ VMAT นี้ เครื่องฉายรังสีจะหมุนรอบตัวผู้ป่วยขณะทำการรักษา โดยสามารถปรับความเร็วของการหมุน และปรับเปลี่ยนรูปร่างเครื่องกำบังรังสี ให้ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็งให้ได้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกกำหนดและคำนวณโดยเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งในตัวผู้ป่วยก่อนการฉายรังสี ทำให้การรักษามีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และด้วยคุณสมบัติพิเศษของอุปกรณ์ควบคู่ คือ เตียงปรับระดับแบบ 6 มิติ ที่ถูกควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถปรับองศาในการนอนของผู้ป่วยให้สอดคล้องตรงจุดที่ถูกฉายรังสี มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ใช้เวลาน้อยลง ขณะเดียวกันก็สามารถลดระยะเวลาในการฉายรังสีในแต่ละครั้งลง 2-8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีในปัจจุบันทั่วไป โดยหากเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT) ในปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยต้องนอนฉายรังสีนานประมาณ 15-30 นาที แต่ด้วยเทคนิค VMAT สามารถฉายรังสีให้เสร็จสิ้นในเวลาเพียง 3-5 นาที ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนบนเตียงนาน ยังเป็นการลดความผิดพลาดอันเกิดจากการขยับตัวของผู้ป่วย (motion error) หรือการขยับตำแหน่งของอวัยวะภายในร่างกาย ลดผลข้างเคียงต่างๆ ของผู้ป่วยได้ ทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดเวลาในการรักษาของผู้ป่วย นอกจากนี้ การรับรังสีน้อยลง ยังส่งผลให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะข้างเคียงอีกด้วย

รับรองโดยผลการวิจัยระดับสากล

ในการประชุมวิชาการประจำปี 2008-2009 ของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society for Therapeutic Radiology and Oncology) ได้มีการนำเสนอผลการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคนิค VMAT

งานวิจัยของโรงพยาบาล William Beaumont ประเทศสหรัฐอเมริกา ในผู้ป่วยมะเร็งปอด 6 ราย พบว่า สามารถฉายรังสีแก่ก้อนมะเร็งได้สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับเทคนิคการฉายรังสีแบบทั่วไป อีกทั้งยังลดปริมาณรังสีที่อวัยวะสำคัญข้างเคียงได้ และยังใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งลดลงถึง 13 นาที หรือคิดเป็นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ป่วยมะเร็งปอด ซึ่งนอนนิ่งไม่ได้นาน เพิ่มความสบายให้ผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดจากการขยับตัวของผู้ป่วยด้วย

เมื่อรู้ว่ามีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเช่นนี้แล้ว เดินหน้าศึกษาหาวิธีการรักษาที่มั่นใจว่าดีที่สุด ร่วมกับแพทย์ ปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษา และคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการดูแลตนเองอย่างดี โดยปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้สมดุลทั้งกายใจ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล