ผู้จัดการออนไลน์ [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
2 โจ๋สะท้อนชีวิต “ต้องคดี เป็นหนี้ เสียสุขภาพ” เหตุจากน้ำเมา


กทม.จับมือเยาวชน เปิดเวทีสะท้อนปัญหาเหล้า “2 วัยโจ๋ ที่เคยก้าวพลาด” เผยช่วงเลวร้ายของชีวิตดื่มหนัก ปัญหาตรึม “ต้องคดี-เป็นหนี้-เสียสุขภาพ” แนะคนรุ่นใหม่อย่าลอง เสี่ยงถลำลึก จี้ ผู้ใหญ่อย่าปล่อยตามยถากรรม เร่งสร้างกลไกลป้องกันเยาวชน สร้างพื้นที่ทางเลือก

วันนี้ (21 ต.ค.) เวลา 09.30 น.ที่อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานเสวนา “เสียงเยาวชนกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จัดโดย สำนักงานป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ และระดมความคิดเห็นอย่างเข้มข้น


นายอัครพงษ์ บุญมี อายุ 23 ปี อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวสะท้อนภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยสัมผัสด้วยตัวเองว่า ช่วงที่ตนอายุ 16 ปี ตนเกเร ติดเพื่อน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทุกวันทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง พ่อ-แม่ พูดสอนอะไรไม่เคยรับฟัง และเคยหนีออกจากบ้านมาเช่าหอพักอยู่กับเพื่อน โดยตนก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เอาเงินที่ได้มาจ่ายค่าเหล้า กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต ที่ถูกตำรวจจับ ต้องติดคุก 4 ปี ข้อหาฆ่าคนตาย เพราะไปทะเลาะวิวาทกับคู่อริจนทำให้เขาเสียชีวิต หลังจากที่ดื่มเหล้ากับเพื่อน เมื่อแม่รู้เรื่องท่านก็เสียใจอย่างมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ หลังจากเกิดเหตุการณ์วันนั้น เพื่อนที่บอกว่าสามารถตายแทนกันได้ก็หายหน้าไปหมด

“ช่วง 4 ปี ที่ถูกส่งมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกราชบุรี ไม่ต่างอะไรจากคุก อยู่ได้ 1 ปี ก็สมัครเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งที่นี่มีการฝึกทักษะชีวิต ฝึกให้ผมคิดอะไรได้หลายๆอย่าง ทำให้ผมได้ร่วมเป็นวิทยากรอบรมให้น้องๆ เยาวชน ที่ก้าวพลาดเหมือนอย่างผม ให้คิดใหม่ทำใหม่ เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นการตอบแทนสังคมโดยการบอกให้เขาได้รู้ว่าการเป็นเหยื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงครั้งเดียวจะเปลี่ยนชีวิตให้ตกต่ำได้” นายอัครพงษ์ กล่าว

เยาวชนผู้เคยก้าวพลาดผู้นี้ กล่าวอีกว่า อยากแนะนำให้เยาวชนทุกคนให้ความสำคัญกับตัวเองให้มาก ไม่ควรติดเพื่อนในทางที่ผิด จะทำให้เสียคน อีกทั้งตนไม่อยากเห็นเยาวชนต้องเป็นเหยื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งนักดื่มอายุน้อยลงเท่าไหร่ก็จะทำให้คนบางกลุ่มที่ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวยมากขึ้นเท่านั้น แต่เยาวชนควรหันมาทำประโยชน์ เพื่อสังคมจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในมาตรการการป้องกันปัญหานี้ ผู้ใหญ่ควรสร้างกลไกป้องกันมากกว่าปล่อยไปตามยถากรรม รอให้เกิดปัญหาแล้วผู้ใหญ่ก็มักจะโทษเด็ก คอยตามแก้เหมือนวัวหายล้อมคอก สำหรับจากจัดรับฟังเสียงจากเยาวชนในวันนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่น่ายินดี มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะมาคิดแทนแล้วก็แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ด้านนายศิรวัฒน์ พันธุ์ม่วง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อีกหนึ่งเยาวชนที่เคยถลำลึกกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในอดีตตนเป็นนักดื่มตัวยงคนหนึ่ง ดื่มตั้งแต่อายุ 15 แต่ปรากฏว่า ในช่วงเวลาที่ยังดื่มถือว่าเป็นช่วงที่ปัญหาชีวิตต่างๆ ถาโถมเข้ามาอย่างมาก ทั้งปัญหาของสุขภาพ ปัญหาการเรียน และที่สำคัญ คือ ปัญหาครอบครัว เพราะในการดื่มจะมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องนำเงินที่พ่อแม่ให้ใช้ไปโรงเรียนมาดื่ม ดังนั้น การดื่มจึงทำให้มีภาระการเงินเพิ่มขึ้น และบ่อยครั้งที่ต้องมีหนี้สิน เพราะแม้ไม่มีเงินแต่ก็ต้องดื่มให้ได้ จึงต้องติดเงิน (เซ็น) กับร้านค้าเอาไว้ก่อน แล้วมาจ่ายคืนในภายหลัง และเมื่อคนในครอบครัวทราบว่าเรามีหนี้ เพราะดื่มเหล้า ครอบครัวก็ต้องมาจ่ายหนี้ให้ ทำให้มีการทะเลาะ มีปากมีเสียงกันบ่อยครั้ง

นายศิรวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตนคิดและตัดสินใจจะเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาด เพราะมีปัญหาทางด้านการเงิน อีกทั้งเห็นเพื่อนๆ สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยที่ไม่ต้องดื่มเหล้า และบางคนมีเวลาว่างที่ทำงานพิเศษหารายได้ ดังนั้น เมื่อตนเลิกเหล้าได้แล้ว จึงนำเวลาที่เคยดื่มเหล้ามาหางานพิเศษทำแทน ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพก็ดีขึ้น และปัญหาต่างๆที่เคยรุมเร้าก็ลดลงด้วย ดังนั้น ตนจึงอยากเชิญชวนให้เยาวชนทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ควรเข้าไปทดลองดื่มจะดีที่สุด หรือคนที่ดื่มอยู่แล้วก็ขอให้เลิก แล้วจากนั้นก็จะได้พบว่าการดื่มเหล้าไม่ได้มีอะไรดีเลย แต่กลับทำให้มีผลเสียที่ตามมาหลังการดื่มและขาดสติ

“ผมอยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ว่า อยากให้จริงจังในการดูแลแก้ไขเหล้ากับเยาวชน ตามที่มีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ให้เด็กเข้าไปสถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ การเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการออกมาตรการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาด้วย เพราะเยาวชนเปรียบเหมือนผ้าขาวที่อ่อนไหวไปกับสิ่งรอบข้างได้ง่าย การสร้างทางเลือกหรือเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่า การลงทุนกับเยาวชน คือ การสร้างอนาคตและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และผู้ใหญ่อย่าคิดว่าปัญหานี้ไกลตัวเพราะบางครั้งอาจเกิดขึ้นกับลูกหลานของท่าน แล้วท่านก็จะถึงจุดใต้ตำตอว่าปัญหานี้ไม่ได้ไกลตัวเลย”นายศิรวัฒน์ กล่าว




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล