ผู้จัดการออนไลน์ [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
สธ.เตือนภัยใช้เครื่องเป่าผม-อบผม ระวังมะเร็งปอด


กรมควบคุมโรคเตือนภัยผู้ใช้เครื่องเป่าผม-อบผม ที่ใช้ฉนวนใยหินในการผลิต อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับปอดเพราะฉนวนใยหินเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ขณะใช้งานกำลังลมมอเตอร์ของเครื่องเป่า หรืออบผม จะพ่นอากาศออกมา และมีเส้นใยหลุดปลิวออกมา หากสูดดมเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อปอด เผยทั่วโลกมีคนตายจากแร่ใยหินปีละกว่า 1 แสนคน และกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายห้ามใช้แล้ว เตือนอาชีพเสี่ยงภัยและสินค้าอันตรายกว่า 3,000 ชนิด ขณะที่เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินภายในปี 2555

ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักโรค กำลังทำการสำรวจสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการหลุดปลิวของแร่ใยหินจากเครื่องเป่าผม (ไดร์เป่าผม) และเครื่องอบผมตามร้านเสริมสวยว่าจะมีแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งฟุ้งกระจายออกมาในระหว่างการใช้งานหรือไม่ และจะเก็บตัวอย่างเครื่องเป่าผมที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดโดยเฉพาะในตลาดระดับล่างเพื่อสำรวจว่าเป็นฉนวนใยหินหรือไม่ ซึ่งการผลิตอุปกรณ์ให้ความร้อนดังกล่าวมักมีการใช้แร่ใยหินเป็นฉนวนในการผลิตเพราะมีราคาถูก และแร่ใยหินก็ทนต่อความร้อนได้ดี

โดยพบว่า มีการใช้ฉนวนจากแร่ใยหินทั้งในเครื่องเป่าผมแบบมือถือและเครื่องอบผมตามร้านเสริมสวยทั่วไป การได้รับฝุ่นแร่ใยหินที่ปลิวออกมาจากเครื่องเป่าและอบผมขณะใช้งานอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยทำให้เป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และโรคปอดอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการห้ามใช้ใยหินเป็นฉนวนในอุปกรณ์ดังกล่าวกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับอันตรายจะเป็นทั้งผู้มีอาชีพให้บริการคือช่างแต่งผมเองและลูกค้า รวมทั้งผู้ที่ใช้ในบ้านเป็นประจำ

“ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลการสำรวจวิจัยออกมาตั้งแต่ปี 2524 แล้ว จากการตรวจสอบเครื่องเป่าผมและอบผมที่ยังอยู่ในสภาพดี 30 ชนิดทั้งที่ใช้ตามบ้านและตามร้านเสริมสวย พบว่า มีปริมาณแร่ใยหินหลุดออกมาในระหว่างการใช้งานเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 0.01 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยพบว่าแร่ใยหินสามารถหลุดปลิวออกมากว่า 0.11 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาจึงมีประกาศเตือนผู้บริโภค และขอความร่วมมือให้บริษัทเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด และต่อมาในปี 2532 จึงมีกฎหมายควบคุมการใช้แร่ใยหินในการผลิตฉนวนความร้อนออกมา” ดร.นพ.สมเกียรติ กล่าว

ส่วนผลการสำรวจวิจัยของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีหน้า เมื่อได้ผลออกมาเป็นอย่างไรแล้วจะแจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบ หากพบว่ามีอันตรายก็ต้องมีมาตรการควบคุมหรือป้องกันต่อไป โดยคาดว่าจะมีการเก็บตัวอย่างเครื่องเป่าผมชนิดมือถือจากท้องตลาดประมาณ 30 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายยังตลาดล่างและมีราคาถูก ไม่มีมาตรฐานรับรองเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อได้ว่ามีการใช้แร่ใยหินเป็นฉนวนในการผลิต เนื่องจากเป็นฉนวนที่มีราคาถูกกว่าฉนวนชนิดอื่นๆ

“ดังนั้น ผู้ที่ใช้เครื่องเป่าผมเป็นประจำ รวมทั้งช่างแต่งผมจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ ดูแลรักษาสภาพเครื่องให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ไม่ชำรุดทรุดโทรม ใช้บริการช่างซ่อมที่มีความชำนาญเฉพาะเท่านั้น ไม่แกะซ่อมแซมเอง เลือกใช้สินค้าที่มีมาตรฐานหากเป็นไปได้ควรเลือกชนิดที่ไม่ใช้ฉนวนใยหิน ขณะใช้งานควรเปิดให้ห้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ลดระยะเวลาใช้งานให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น ใช้งานแต่น้อย ไม่ใช้ถี่ ไม่จำเป็นก็ไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีใยหินปนเปื้อนในอากาศ การใช้ผ้าเช็ดผมหรือปล่อยให้ผมแห้งเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เครื่องเป่าผม เป็นต้น” ดร.นพ.สมเกียรติ กล่าว

ด้วยเหตุที่แร่ใยหินมีความเป็นพิษสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้จัดให้แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น การควบคุมการใช้ที่เข้มงวดก็ทำได้ยาก และสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการ ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่ได้รับการอบรมเป็นพิเศษ ต้องมีระบบจัดการอื่นๆ รองรับและอาจไม่คุ้มค่าต่อการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย จึงเห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกเตือนภัยประชาชนให้รับทราบถึงอันตรายจากแร่ใยหิน ทั้งที่ถูกใช้ในการผลิตโดยตรงในสินค้ากว่า 3,000 รายการ เช่น สินค้าประเภทอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซีเมนต์ ผ้าเบรค คลัชท์ ฯลฯ รวมทั้งที่อาจปนเปื้อนไปกับสินค้าบางประเภทที่ใช้วัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศที่มีเหมืองผลิตใยหิน เช่น แป้ง และเครื่องสำอาง

แร่ใยหิน (Asbestos) มีลักษณะเป็นวัตถุแข็งสีขาว แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ แร่ใยหินในกลุ่มแอมฟิโบล และกลุ่มเซอร์เพนไทล์ ซึ่งแร่ใยหินในกลุ่มแอมฟิโบลทั่วโลกได้ห้ามใช้แล้ว เนื่องจากมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่าฝุ่นละอองจากแร่ใยหินมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง ในขณะที่แร่ใยหินกลุ่มเซอร์เพนไทล์ซึ่งมีชนิดเดียว คือ ชนิดไครโซไทล์ แม้ว่าจะมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ปอดอักเสบ ฯลฯ แต่หลายประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนายังคงใช้อยู่ เนื่องจากมีราคาถูก ขณะที่ประเทศรํ่ารวยได้หันไปใช้สารทดแทนเพื่อความปลอดภัยกันหมดแล้ว

ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 54 ประเทศ ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้วทุกชนิด เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เนื่องจากมีรายงานว่าในแต่ละปีจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินเสียชีวิตประมาณปีละ 100,000 ราย และมีผู้ที่ต้องสัมผัสแร่ใยหินจากการทำงานประมาณ 125 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับปอด เฉพาะประเทศไทยมีอัตราการใช้แร่ใยหินสูงถึง 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และใช้มายาวนานกว่า 70 ปี จึงคาดว่าความเสี่ยงต่ออันตรายจากโรคที่เกี่ยวข้องนี้ย่อมมีสูง แต่เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังขาดการเฝ้าระวัง ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการตรวจสอบที่ทันสมัย ตลอดจนการสะสมของแร่ใยหินในร่างกายจะแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 10 ปี จึงทำให้พบผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินเพียงไม่กี่รายจากที่ผ่านมา

ส่วนประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ประมาณปีละ 150,000 ตัน มูลค่าการนำเข้าประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท โดยนำเข้าจากรัสเซีย แคนาดา และจีน ตามลำดับ แร่ใยหินส่วนใหญ่เกือบ 90% จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ใยหิน เนื่องจากมีคุณสมบัติในการทนต่อความร้อนได้ดี มีความเหนียวและยืดหยุ่น ทนต่อแรงดึงได้สูง ทนทานต่อสภาพความเป็นกรด-ด่าง จึงใช้เป็นส่วนผสมของกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องซีเมนต์ กระเบื้องทนไฟ ท่อนํ้า ฯลฯ และอีก 7% ผลิตผ้าเบรค คลัทช์ อีก 3% ผลิตเป็นฉนวนกันความร้อน เช่น กระเบื้องยางปูพื้น เสื้อผ้าทนไฟ สายเตารีด ฉนวนในเตาอบ เครื่องปิ้งขนมปัง หม้อต้มน้ำไฟฟ้า เครื่องเป่าผม ฯลฯ

ส่วนผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับพิษจากแร่ใยหิน ก็คือ คนงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งคนงานก่อสร้างที่รื้อถอนอาคาร การตัด เลื่อยกระเบื้อง-ท่อซีเมนต์ ช่างยนต์ที่เปลี่ยนผ้าเบรค-คลัชท์ เพราะอาจมีฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าฟุ้งกระจายเข้าสู่ปอด เมื่อสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน บางรายใช้เวลา 10-35 ปีอาการจึงจะแสดงออกมา

โดยฝุ่นละอองของแร่ใยหินที่มีขนาดเล็กจะเข้าไปทำลายปอด อาการที่พบ ก็คือ การไอ หายใจหอบ การหายใจออกจะมีช่วงสั้น เมื่อมีอาการรุนแรงอาจจะเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี

มีรายงานแจ้งว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน โดยจะมีนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน กลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เช่น สำนักงานสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยราชการ มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ได้มีมติผลักดันให้ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการนำเข้า และห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดภายในปี 2555 เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล