หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
สมัชชาสุขภาพหนุนกฎเหล็กคุมเข้มแร่ใยหินสกัดโรคปอด


ผศ.พญ.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่องโรคปอดจากการทำงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอนุญาตให้ใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ เป็นส่วนประกอบของการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องลูกฟูกกระเบื้องทนไฟ ฝ้าเพดาน ท่อซีเมนต์ ผ้าเบรกคลัตช์ ฉนวนไฟฟ้า ฉนวนความร้อน ฯลฯเนื่องจากมีคุณสมบัติในการทนต่อความร้อนได้ดี ทนต่อแรงดึงได้สูง มีความเหนียว ทนต่อภาวะความเป็นกรด-ด่าง แต่ในหลายสิบประเทศทั่วโลกได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง สิ่งที่ต้องระวังก็คือ คนงานก่อสร้าง คนงานที่รื้อถอนอาคาร คนงานในโรงงานผลิตผ้าเบรก คลัตช์หรือช่างเครื่องยนต์ที่ต้องเปลี่ยนผ้าเบรก เพราะจะมีฝุ่นละอองจากแร่ใยหินหลุดออกมา แม้แต่ในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีมาตรการควบคุมอย่างดีเช่น โรงงานผลิตวัสดุประเภทซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับปอด หรือมะเร็งปอดได้

ผศ.พญ.พิชญากล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ปลายปีนี้ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศได้เสนอให้มีการยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินทุกประเภทในประเทศไทย ภายในปี 2555 พร้อมทั้งเสนอมาตรการเร่งด่วน ให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่4 ซึ่งจะห้ามการนำเข้า ผลิต และครอบครองภายในระยะเวลา 3-6 เดือน หลังจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติเห็นชอบแล้ว

แหล่งข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคกำลังทำการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการใช้เครื่องเป่าผมและอบผม ว่าผู้ที่ใช้จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากแร่ใยหินที่สูดดมเข้าไปในร่างกายหรือไม่ เนื่องจากเครื่องเป่าผมและอบผมบางชนิด จะมีการนำเอาแร่ใยหินมาทำเป็นฉนวนกันความร้อน หากใช้ไปนานๆ หรือหากมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากแร่ใยหิน เพราะจะไปสะสมอยู่ในปอดผ่านระบบทางเดินหายใจ




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล