หนังสือพิมพ์บ้านเมือง [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี ต้นแบบการดูแลสุขภาพฟัน


ผลสำรวจสุขภาพช่องปากคนไทยชี้ผู้สูงวัยกว่าร้อยละ 10 หรือประมาณ 700,000 คน มีการสูญเสียฟันทั้งปาก โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อายุ 80 ปีขึ้นไปมีฟันเฉลี่ยเหลือไม่ถึงครึ่งปาก 21 ตุลาคม 2553 วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ สธ.จัดประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” ดัน 10 ผู้สูงวัยฟันดี เป็นต้นแบบกระตุ้นสังคมให้ตื่นตัวดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่วัยเด็ก ย้ำหากดูแลฟันอย่างดีวัย 80 ปี ก็ยังมีฟันดีได้

จากผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทยล่าสุดปี 2550 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาทั้งโรคเหงือกอักเสบและฟันผุตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งโรคปริทันต์ในวัยทำงาน ทำให้ฟันโยกคลอน ปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่การสูญเสียฟันตั้งแต่วัยเด็กและจะสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันทั้งปาก ทำให้เกิดปัญหาในวัยสูงอายุ โดยพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 92 หรือเกือบทุกคนมีการสูญเสียฟัน 1 ซี่ และร้อยละ 10 หรือประมาณ 700,000 คน มีการสูญเสียฟันทั้งปาก ส่วนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีฟันเฉลี่ยเพียง 10.5 ซี่ต่อคน 1 ต้นเหตุสำคัญมาจากการไม่ใส่ใจทำความสะอาดช่องปากอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก การสูญเสียฟันนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาทั้งการเคี้ยว การกัด การกลืนอาหาร ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาทิเช่น ภาวะโภชนาการ ระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงด้านจิตใจที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และด้านสังคมโดยจะเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่ไปร่วมกิจกรรม ขาดโอกาสในการเรียนรู้


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ทรงห่วงใยในความทุกข์ทรมานของประชาชนจากโรคในช่องปาก “โรคฟันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากพอใช้อยู่ ถ้าใครเจ็บฟัน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ก็จะทำให้ได้รับความลำบากมาก ถึงกับกินไม่ได้ เคี้ยวไม่ออก และยังมีเชื้อโรคในปาก ทำให้เป็นโรคอื่นได้อีก” เป็นความตอนหนึ่งในกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ของไทย

พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีทันตแพทย์ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยแพทย์ พอ.สว.ทุกครั้งที่มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้การบำบัดรักษาโรคแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ในปี พ.ศ.2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านเป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” และทุกปีมูลนิธิ พอ.สว. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสุขภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ และในปี 2553 นี้ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีต่อปวงชนชาวไทย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า” ตุลาคม 2553 เดือนแห่งการรณรงค์ดูแลสุขภาพช่องปากคนไทยเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติขึ้น นอกจากจะให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าพระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นและสร้างกระแสให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง ได้รับบริการทันตสุขภาพจากหน่วยบริการตามความเหมาะสม เพื่อผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเองและครอบครัว เพราะสุขภาพช่องปากถือเป็นต้นทางของการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ

น.พ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรมอนามัยจัดขึ้นเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ปี 2553 นี้ เพื่อคัดเลือกผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยทุกท่านที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะต้องมีฟันแท้ที่ใช้งานได้มากกว่า 24 ซี่ และมีโรคได้ไม่เกิน 1 โรค กิจกรรมการประกวดครั้งนี้ ยังได้รวมการถอดบทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเพื่อนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม แล้ว ยังเป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนได้รับรู้ว่าถึงแม้ผู้สูงอายุบางท่านจะเลยวัย 80 ปีแล้วก็ยังมีฟันดีได้หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในทุกช่วงวัยของชีวิตอีกด้วย

นอกจากกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ แล้ว ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดให้มีบริการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านทันตสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก การป้องกัน การรักษา รวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพช่องปากแก่ผู้ที่สูญเสียฟัน โดยเฉพาะการรณรงค์ใส่ฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ซึ่งตอนนี้มีทันตบุคลากรทั่วประเทศในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นหน่วยบริการระดับจังหวัดหรืออำเภอ หรือตำบล ที่สามารถให้บริการได้ครบทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และดูแลสุขภาพช่องปากให้แก่พี่น้องประชาชน อธิบดีกล่าว

สำหรับผู้สูงวัย การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการลดความเสี่ยงต่อการเกิดของโรคเรื้อรัง เพียงแค่ดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองโดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเหงือกและฟัน เช่น ผัก ผลไม้ ลดการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ของหวานต่างๆ และไปพบทันตบุคลากรอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปาก รับบริการป้องกันการสูญเสียฟัน และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในช่องปาก การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงวัย นอกจากจะส่งผลให้มีสุขภาพฟันที่ดีในวัยสูงอายุแล้วยังส่งผลให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีตามมาด้วย




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล