หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [ วันอังคาร ที่ 22 เดือนตุลาคม 2553 ]
รณรงค์ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่ 7 ขั้นตอน


องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันล้างมือโลก" หรือ Global Handwashing Day เพื่อรณรงค์ถึงความสำคัญของการล้างมือ

ปัจจุบันโรคติดเชื้อในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่แพทย์ทั่วโลกให้ความสำคัญ จากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของเด็กทั่วโลกกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี อาทิ โรคปอดบวมและโรคท้องร่วง


จากสถิติที่น่ากลัวข้างต้นพบว่ามีมากถึง 1.5 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง อันเป็นผลมาจากการขาดสุขอนามัยที่ดี และละเลยการล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำ ซึ่งมีรายงานว่าการล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังการใช้ห้องน้ำจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่าการฉีดวัคซีน หรือการใช้ยารักษา รวมทั้งช่วยลดอัตราการตายจากโรคท้องร่วงได้ร้อยละ 50 และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจร้อยละ 25 ผลการวิจัยพบกว่าการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ สามารถช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียบนฝ่ามือที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ลงได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติการตายที่น่ากลัวข้างต้น องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีวันล้างมือโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2008 พร้อมกับเลือกให้ปี ค.ศ. 2008 เป็นปีสากลแห่งการรักษาอนามัย และประเทศไทยร่วมเป็นหนึ่งในประเทศภาคีด้วยเช่นกัน

ในปีนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ชมรมควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และผลิตภัณฑ์โพรเทคส์ จัดกิจกรรมวันล้างมือโลก 2010 รณรงค์ให้เด็กไทยมือสะอาด เพื่อสุขอนามัยที่ดี ตลอดจนปลูกฝังการสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมืออย่างถูกวิธี 7 ขั้นตอน ข้อมูลจาก นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างหนักในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ร่างกายของเราไปสัมผัสเชื้อโรคโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งวิธีการป้องกัน ส่วนหนึ่งมาจากการล้างมือที่สะอาดก่อน เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า มือเรานั้นจับอะไรมาบ้าง และเชื้อโรคต่างๆ สามารถแพร่กระจายไปได้ทุกที่

เพราะฉะนั้น ก่อนและหลังการรับประทานอาหารควรจะล้างมือก่อน ตามมาตรการป้องกันโรคไข้หวัด 2009 ที่ว่า “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เพื่อสุขอนามัยที่ดี และปลอดภัยจากเชื้อโรค

การปลูกฝังเรื่องพฤติกรรมการล้างมือให้เป็นนิสัยสำหรับเด็กๆ นั้นควรเริ่มต้นที่ครอบครัว โดยการที่พ่อแม่ล้างมือให้ลูกๆ เห็นเป็นตัวอย่างอยู่เป็นประจำ จากนั้นก็เป็นที่โรงเรียนควรปลูกฝังสุขนิสัยให้เด็กนักเรียนล้างมือทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร สำหรับในส่วนของหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ได้มีการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการกระตุ้น และส่งเสริมในด้านสุขอนามัยอยู่เป็นประจำ รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์วันล้างมือโลก 2010 ขึ้นในปีนี้ ก็นับเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดี เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนได้คำนึงถึงความปลอดภัยทางสุขอนามัย ด้วยการล้างมือ เพื่อลดการแพร่เชื้อ และเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ ที่จะตามมา ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า เราทุกคนสัมผัสกับเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลา เพราะเชื้อโรคมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง หรือแม้แต่กระทั่งในอากาศที่เราหายใจ โดยเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ 3 ทางด้วยกัน คือ ทางปากด้วยการกิน ทางจมูกด้วยการหายใจ และทางผิวหนังด้วยการสัมผัส

ซึ่งมือเป็นอวัยวะสำคัญใกล้ตัวที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายที่สุด เมื่อมือเกิดการสะสมของเชื้อโรคจากการหยิบจับสิ่งต่างๆ หรือการไอจาม เมื่อเราไปจับสิ่งของอื่นๆ เชื้อโรคที่อยู่บนฝ่ามือก็สามารถแพร่กระจายไปยังสิ่งของเหล่านั้นได้ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ เป็นต้น โรคต่างๆ ที่พบบ่อยโดยมีมือเป็นสื่อกลางสำคัญในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคไข้หวัด และโรคมือเท้าปาก เป็นต้น นอกจากโรคดังกล่าวแล้วยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงอาทิเช่น โรคติดเชื้อในกระแสเลือด หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำจนเป็นนิสัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของครอบครัวและเด็กๆ

ผลการศึกษาพบว่า การล้างมือช่วยลดอัตราการเกิดไข้หวัดได้ร้อยละ 75 จากผลการศึกษามาตรการลดไข้หวัดในโรงเรียนของ รศ. นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ แพทย์โรคติดเชื้อ หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการระบาดเป็นประจำทุกปีในโรงเรียน และมีผลกระทบกับนักเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะการระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรครุนแรงในกลุ่มเด็กนักเรียนได้ ดังนั้น การหามาตรการควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก ทางชมรมฯจึงได้ทำการศึกษา มาตรการลดไข้หวัดในโรงเรียน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) มาตรการล้างมือ และปิดปากเวลาไอจาม (2) ส่งจดหมายเวียนให้ผู้ปกครองไม่นำนักเรียนที่ป่วยมาโรงเรียน และ (3) รณรงค์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี โดยผลการศึกษาพบว่า สามารถลดอัตราการเกิดไข้หวัดได้ร้อยละ 75 ลดอัตราการเกิดท้องเสียได้ร้อยละ 80 และลดอัตราการเกิดโรคมือเท้าปากได้ร้อยละ 25 ดังนั้น เราจึงควรสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนไทย ด้วยการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ และต้องล้างมือทันทีเมื่อทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น

1. ก่อนเตรียมหรือรับประทานอาหาร 2. หลังเข้าห้องน้ำ 3. หลังใช้มือขยี้จมูก ไอ หรือจาม 4. หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง 5. หลังทิ้งขยะ ผลการศึกษาพบว่า โรงเรียนกว่า 80% ไม่พร้อมด้านการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียน ขณะเดียวกันคณะกรรมการโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเลิดสิน โดย ภ.ญ อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล และคณะ ยังได้ทำการศึกษาถึงความพร้อม นโยบายของผู้บริหาร เรื่องภาวะสุขภาพ และสุขนิสัยของนักเรียนในโรงเรียน โดยได้ทำการศึกษาในเขตบางรัก จำนวนทั้งสิ้น 26 โรงเรียน เป็นโรงเรียนของกรุงเทพมหานครฯ และโรงเรียนเอกชน พบว่า

มากกว่าร้อยละ 80.54 คิดว่าโรงเรียนยังไม่พร้อมในการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียน และเสริมสร้างสุขนิสัยด้านกายภาพ คือ มีห้องน้ำ ก๊อกน้ำ สบู่ล้างมือ รวมทั้งผ้าเช็ดมือที่สะอาด และแห้งเพียงพอ มีเพียง ร้อยละ 18.46 คิดว่า มีห้องน้ำ และก๊อกน้ำล้างมือเพียงพอ และ ร้อยละ 1.00 ไม่แน่ใจว่ามีห้องน้ำ น้ำ สบู่ และผ้าเช็ดมือที่สะอาด และแห้งเพียงพอ และร้อยละ 100 เห็นด้วย กับโครงการสร้างนิสัย และกระตุ้นให้เด็กรักสะอาด มีความรับผิดชอบกับสุขอนามัยของตัวเอง และสังคม เพื่อที่จะไม่ขาดเรียน ลดการเจ็บป่วย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี และแข็งแรง ต่อไปในอนาคต

เพียงแค่ล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรปลูกฝังและเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีจนเป็นนิสัยแก่ลูกหลาน และเยาวชนด้วยการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นวิธีที่เราทุกคนทำได้ง่ายๆ ทุกๆ วัน




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล