ผู้จัดการออนไลน์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
เตรียมเสนอ สธ.ร่วมมืออียูหนุน “เมดิคัลฮับ”


ชง “จุรินทร์” ร่วมมือยุโรป หนุนโครงการ “เมดิคัลฮับ” พร้อมมีแผนดันวัดไทยในต่างแดนเป็น ศูนย์กลางพัฒนาสุขภาพชุมชนไทย

นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 18 ต.ค.นี้ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย (Medical Hub) ในรอบ 1 ปี ต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการรายงานถึงความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรายงานแผนการส่งเสริมพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสุขภาพ โดยทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมที่จะเสนอนายจุรินทร์ให้มีการทำบันทึกลงนามความตกลงกับสหภาพยุโรป หรืออียู เพื่อให้มีการส่งต่อผู้ป่วยจากประเทศในยุโรปมารักษาในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น เพราะพบว่าการรักษาในบางโรค เช่น โรคสะเก็ดเงิน หากมารักษาในประเทศไทยจะได้ผลดีกว่าการรักษาในบางประเทศแถบยุโรป เนื่องจากการรักษาโรคนี้จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับแสงแดดร่วมกับการรักษาจากยาด้วย


“ขณะนี้สถานบริการต่างๆมีความพร้อมที่สูงมาก ในการดำเนินการตามโครงการ Medical Hub และโดยหลักการของโครงการนี้เพื่อต้องการส่งเสริมให้สถานบริการของรัฐกับเอกชนมีมาตรฐานเดียวกัน จึงต้องมีการส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าทั้งหมดในการดำเนินงานตามนโยบาย Medical Hub ต่อนายจุรินทร์ ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 18 ต.ค.นี้” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการส่งเสริมพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสุขภาพ ที่จะมีการรายงานในที่ประชุม สธ.นั้น นอกจากแนวทางการลงนามกับเครือสหภาพยุโรป ยังมีแนวทางการการดำเนินงานอื่นๆ ด้วย เช่น การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางสุขภาพระหว่างประเทศ การเตรียมจัดตั้งศูนย์ One Stop service Center เพื่อให้บริการชาวต่างชาติแบบครบวงจร ใช้งบลงทุน 43 ล้านบาท การส่งเสริมพัฒนาสถานพยาบาลให้เข้าสู่การรับรองคุณภาพ และมาตรฐาน (Joint Commission International) หรือ JCI ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก การพัฒนาชุมชนไทยในต่างประเทศให้มีสุขภาพดีแบบวิถีไทย โดยใช้วัดไทยในต่างประเทศเป็นศูนย์กลางดำเนินงานร่วมกับพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ชาวไทยมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องนั้นเบื้องต้นอาจกำหนดเป็นที่สหพันธรัฐเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ที่มีชาวไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นต้น




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล