ผู้จัดการออนไลน์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
ตัวเลขสุดช็อก สาวโจ๋ไทยท้องอันดับ 1 เอเชีย!!!


เพิ่งจะพยายามดัน 'พระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์' กันไปไม่ทันไร สถิติน่าหนักอกหนักใจก็โผล่มาให้เห็นอีกแล้ว จากข้อมูลล่าสุดในที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันนี้ค่าเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ตั้งครรภ์ สูงถึง 70 ต่อ 1,000 คน (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ 60 ต่อ 1,000 คน และเอเชียอยู่ที่ 56 ต่อ 1,000 คน) ซึ่งถือว่าสูงสุดในทวีปเอเชียและทะลุค่าเฉลี่ยทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว

ปัญหาของคุณแม่วัยโจ๋ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ซ้ำซากจำเจ พูดกันมาไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้ว แต่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็ยังทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความไม่พร้อม’ ของวัยรุ่นไทยจำนวนมาก ตั้งแต่การนำเด็กแรกเกิดไปทิ้งตามถังขยะ ไปจนถึงกรณีล่าสุดของเด็กหญิงวัย 17 ปี ที่ตัดสินใจทำแท้งด้วยยาสอดสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมจะมีบุตร จากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จนเกือบเสียชีวิต โดยที่ทั้งครูบาอาจารย์และเพื่อนนักเรียนไม่มีใครสะกิดใจมาก่อนแม้แต่น้อย


มาดูว่าแท้จริงแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับแดนยิ้มสยามที่มีวัฒนธรรมอันงดงามแห่งนี้

ชำแหละตัวเลขสุดช็อก

แม้ว่าตัวเลขที่ออกมาจะดูน่ากลัวเหลือจะกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัจจัยทางสังคมอีกมากมายที่ถูกนำมาพิจารณาในสถิตินี้

“ถ้าดูตัวเลขมันสูงก็จริง แต่มันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะในเอเชียยังมีประเทศที่อัตราการตั้งครรภ์ระดับ ร้อยคนนิดๆ ต่อ 1,000 คน เช่น อินเดีย บังกลาเทศ แต่เนื่องด้วยเขามีวัฒนธรรมการคลุมถุงชน แต่งงานเร็ว ซึ่งมันทำให้สังคมเขาสามารถดูแลตัวเองได้ บ้านเรามันจะออกแนวฟันแล้วทิ้งหรือพลาดมีลูกซะมากกว่า” นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เริ่มอธิบาย

ส่วนสาเหตุปัจจัยแวดล้อมนั้น นพ.สุริยเดว กล่าวว่ามีตัวกระตุ้นอยู่มากมายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ เรื่องสื่อเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย ประกอบกับภูมิคุ้มกันทางสังคมของเด็กก็อ่อนแอและกำลังสั่นคลอนลงเรื่อยๆ

“ภูมิคุ้มกันที่ว่าคือต้นทุนชีวิตที่จะทำให้เด็กดำรงชีวิตได้โดยไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง การยึดมั่นในพฤติกรรมที่ดี ทักษะในการกล้าปฏิเสธ ค่านิยมจิตสำนึกการยับยั้งชั่งใจ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชนด้วยว่ามีพื้นที่กิจกรรมให้เด็กเยาวชนมาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำให้เขาได้ภาคภูมิใจ เพราะปัจจุบันโลกในห้องเรียนกับนอกห้องเรียนไม่ได้เชื่อมโยงกัน ทุกอย่างมันเลยดำเนินไปแบบไร้ทิศทาง”

‘เด็กโตเร็ว’ อุปทาน หรือ วิทยาศาสตร์

แต่ถ้าพูดถึงในแง่ทางกายภาพแล้ว เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอๆ กับคำพูดที่ว่า “เด็กสมัยนี้โตเร็ว” แต่โดยมากแล้วมักหมายความถึงพฤติกรรมการแสดงออก การแต่งตัว การใช้ชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเติบโตทางร่างกายก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

เพราะถ้าอวัยวะภายในและระบบสืบพันธุ์ยังไม่ยินยอมพร้อมใจให้เป็นแม่แล้วล่ะก็ ปัญหาแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นกับเด็กอายุน้อยเป็นแน่ (จากสถิติปัจจุบันพบว่าเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีอายุ 10 ปีเท่านั้น)

“โดยธรรมชาติพัฒนาการมนุษย์ไม่ใช่แค่เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์เท่านั้น ในรอบ 10-20 ปีนี้มีแนวโน้มว่าร่างกายของมนุษย์จะมีการพัฒนาเร็วขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมักจะเกิดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนา เช่น เด็กอายุปกติจะเดินได้ตอนอายุประมาณ 15 เดือน แต่เดี๋ยวนี้ 12 เดือนกว่า ก็เริ่มเดินได้แล้ว สรีระต่างๆ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นจะโตเร็วขึ้น เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเดิมทีค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงจะอยู่ที่ 10 ปี แต่ปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 9 ปี นั่นหมายความว่ารอบเดือนก็จะมาเร็วขึ้นและพร้อมจะท้องได้เร็วขึ้น” นพ.สุริยเดว อธิบายเสริม

วัยรุ่นท้องกับมุมมองสังคม ‘ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป?’

เคยตั้งข้อสงสัยกันบ้างไหมว่า การ ‘ท้องก่อนแต่ง’ (ถูกทำให้) กลายเป็นปัญหาตั้งแต่เมื่อไร เพราะในอดีต การหนีตามกันแล้วค่อยมาขอขมาผู้ใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีให้เห็น แถมยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจนต้องหนีไปแอบทำแท้ง

ในประเด็นนี้ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำตอบว่า ‘สังคม’ ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ ‘ความพร้อม’ ของคนเป็นแม่ไม่อาจวิ่งตามทันไปด้วย จึงถูกทำให้กลายเป็น ‘ปัญหา’ ของสังคม

“หลักๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ที่วัยของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ แต่อยู่ที่ความพร้อมของการเป็นแม่มากกว่า เพราะหากสังเกตดูก็จะพบว่า ในอดีตผู้หญิงก็ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ เหมือนกัน แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ก็เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เด็กไม่รู้จะจัดการกับตัวเองอย่างไร เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว

“เมื่อก่อนสังคมจะมีกลไกดูแล ทำให้มีความพร้อมตั้งแต่สถาบันครอบครัวลงไป ไม่ว่าจะเป็นการมีคู่ หรือการแต่งงาน แต่ทุกวันนี้ ความใกล้ชิดของแหล่งบ่มเพาะของเด็กมันอ่อนแอเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือสถาบันที่คอยสั่งสอนเรื่องจริยธรรม รวมไปถึงครอบครัวที่ตอนนี้ผลักภาระการดูแลลูกให้แก่สิ่งอื่นๆ เกือบหมด ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของเด็กมีวุฒิภาวะน้อยลง”

และความเป็นสังคมบริโภคนิยมอย่างเต็มตัวนี่เอง ที่ทำให้ จารีต และ หน้าที่พลเมืองในฐานะ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ เกิดการขัดกัน

“ในสังคมไทยเองก็มองเรื่องเพศในมุมขาวดำชัดเจนอยู่ค่อนข้างสูง มันก็เลยเหมือนถูกตีกรอบไปแล้วว่า ถ้าคุณยังเป็นวัยรุ่นหรืออยู่ในวัยเรียน คุณต้องไม่ท้อง ไม่มีเพศสัมพันธ์ คำอย่าง ‘มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร’ ถึงได้เกิดขึ้น แต่ความเป็นสังคมบริโภคนิยมมันทำให้เด็กถูกกระตุ้น ถูกดัน ให้ไหลตามกระแสมากขึ้น พึ่งพาตัวเองน้อยลง เลยมีการตัดสินใจแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่พอเด็กมีความคิดสวนทาง หรือพลั้งเผลอตั้งท้อง ก็จะถูกประณามจากสังคม ถูกสังคมปฏิเสธ ทำงานไม่ได้ เข้าระบบไม่ได้เหมือนคนทั่วไป กล่าวคือเราเอาวิธีคิดแบบจริยธรรมไปตัดสินปัญหาที่มาจากระบบ การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงมันเลยไม่เกิดขึ้น”

ดาราวัยรุ่นชี้ สังคมไทยต้องเลิก ‘แอ๊บ’

ทางฝั่งของดารานักแสดงวัยรุ่นอย่าง ผึ้ง-กัญญา ลีนุตพงษ์ ก็ไม่ได้ปฎิเสธว่า ‘สื่อบันเทิง’ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีผล แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

“มันก็มีผลอยู่แล้วที่ดาราเด็กๆ ตามเวทีประกวดเดี๋ยวนี้พยายามจะทำตัวให้เป็นสาวเร็วขึ้น ซึ่งมันก็จะส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ เช่นว่า คนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนเริ่มแต่งหน้าแล้ว เริ่มมีแฟนแล้ว มันเป็นการกดดันทางอ้อมนะ แต่ผึ้งว่าปัญหามันอยู่ที่เรายังไม่ยอมรับกันว่ามันมีเรื่องเพศสัมพันธ์อยู่ในสังคม เพราะเด็กในยุคนี้ก็เสพข่าว เสพสื่อเยอะมาก แต่พอเราทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในครอบครัวกลายเป็นเรื่องห้ามพูด แต่กับเพื่อนกับคนนอกครอบครัวมันกลายเป็นเรื่องเปิด”

ทางที่ดี ผึ้ง บอกว่า น่าจะเปิดอกทำความเข้าใจกันเสียแต่เนิ่นๆ

“คือตอนนี้ในห้องเรียนก็ไม่ได้สอนให้เด็กเข้าใจเรื่องแบบนี้ แถมพ่อแม่ก็ยังเงียบ แต่สังคมโดยรวมมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าไม่มีใครให้ปรึกษา ไม่มีใครแนะนำ มันก็ไม่แปลกที่จะไหลไปง่ายๆ ดูอย่างหนังสือกอสซิปดาราก็เอาแต่เสนอตลอดเวลาว่าคนนั้นไปมีอะไรกับคนนี้ คนนั้นแลกลิ้นคนนี้ เราปล่อยให้เด็กอ่านเรื่องพวกนี้ได้ แต่คุยกับผู้ใหญ่ไม่ได้ แล้วมันจะเหลืออะไรละ”




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล