หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
สัญญาณเตือน...อาการมะเร็งต่อมน้ำเหลือง !!!


ต่อมน้ำเหลือง เป็นส่วนประกอบของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะ ลำคอ รักแร้ ทรวงอก ช่องท้อง ตลอดจนแขนและขา โดยต่อมน้ำเหลืองปกติจะมีขนาดเล็กไม่เกิน 0.5- 1 เซนติเมตร มีหน้าที่รับน้ำเหลืองซึ่งไหลมาจากอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ภายในต่อมจะมีเซลล์ภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองอาจโตขึ้นได้ถ้ามีภาวะติดเชื้อ เช่น เมื่อมีการอักเสบ ก็อาจพบต่อมน้ำเหลือง ใต้คางโตและกดเจ็บร่วมด้วย แต่หากต่อมน้ำเหลืองเจริญเติบโตขึ้นมากผิดปกติโดยไม่มีการติดเชื้อ อาจเกิดได้จากหลาย สาเหตุ เช่น มะเร็งได้แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ๆ หรือเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติภายในต่อมน้ำเหลืองเอง ซึ่งเรียกว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือเรียกกันในทางการแพทย์ว่า ลิมโฟม่า (Lymphoma)

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งของระบบโลหิตที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกและในประเทศไทย ซึ่งนับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin disease) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) และทั้ง 2 ชนิดจะมีการดำเนินโรค ความรุนแรง และการตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินจะพบมากในผู้ใหญ่ ซึ่งมีชนิดย่อย ๆ อีกมากกว่า 20 ชนิด ส่วนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินพบใน 2 ช่วงอายุ คือ อายุน้อย(10-35ปี) และอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งมักจะมีพยากรณ์โรคที่ดีกว่าชนิดนอนฮอดจ์กิน

สำหรับระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โรคอยู่ในต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งเดียว ระยะที่ 2 ต่อมน้ำเหลืองโตตั้งแต่สองตำแหน่งขึ้นไปในฝั่งเดียวกันของกระบังลม (เช่น ช่องอก หรือช่องท้อง อย่างใดอย่างหนึ่ง) เช่น คอด้านซ้าย ร่วมกับในทรวงอก ระยะที่ 3 จะพบโรคได้ทั้งเหนือและใต้กระบังลม เช่น มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้ ร่วมกับที่ขาหนีบ ส่วนระยะที่ 4 โรคจะกระจายออกนอกระบบน้ำเหลือง เช่น ไปที่ ไขกระดูก ผิวหนัง ตับ ปอด กระดูก สมอง เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นมีหลายปัจจัย ในภาพรวมเกิดมาจาก เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายเกิดความผิดปกติในการแบ่งตัว ทำให้เซลล์นั้นๆเกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่หยุดยั้ง มีผลให้ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องโดยขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจมีปัจจัยเสี่ยงได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสสารเคมี หรือสารรังสี (สารเคมีในการเกษตรและอุตสาหกรรม, ยาฆ่าวัชพืชและแมลงต่าง ๆ, ยาย้อมผม, มลภาวะที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน) เชื้อไวรัสบางชนิด หรือภาวะทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ (เช่นภูมิคุ้มกันต้านเซลล์ตนเองหรือโรคพุ่มพวง, ภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง HIV)

ผู้ป่วยอาจคลำได้ก้อนโตที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย โดยไม่มีอาการเจ็บปวด แดงร้อนแต่อย่างใด ก้อนจะมีลักษณะคลำได้หยุ่น ๆ มือ คล้ายยางลบดินสอ อาจกลิ้งไปมาได้เล็กน้อย ก้อนอาจโตช้าเป็นปี หรือโตเร็วมากในเวลาเป็นสัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยหลายรายอาจมีไข้ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเหงื่อออกได้ง่าย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากนั้นจะมีอาการตามระบบอวัยวะที่เป็น เช่น ถ้าเป็นที่สมอง อาจมีอาการซึม เห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะ หรือชักได้ ถ้าเป็นที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ จะมีอาการปวดท้อง แสบท้อง หรือถ่ายผิดปกติ บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่ตรวจร่างกายพบต่อมน้ำเหลืองโตโดยบังเอิญ อย่างไรก็ตาม การคลำได้ก้อน ไม่ใช่จะเป็นมะเร็งเสมอไป อาจเป็นแค่การอักเสบธรรมดา หรือเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้าย ซึ่งสามารถผ่าตัดให้หายได้ หรือแม้หากเป็นก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสหายขาดได้ ส่วนโรคที่ร้ายแรงที่ต้องแยกจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือมะเร็งที่แพร่กระจายจากอวัยวะอื่นเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เช่น มะเร็งเต้านมจะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มะเร็งคอหอยจะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอ เป็นต้น

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจด้วยเอกซเรย์ และที่สำคัญคือการตัดเอาชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองที่โตไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อใช้ในการยืนยันว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและ สามารถบอกชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ๆ ได้ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาต่อไป ในการป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็ง ทำได้โดยการดูแลรักษาสุขภาพทั่วไปโดยรวม ทั้งด้านอาหารการกิน การดำเนินชีวิตในทางสายกลาง ให้ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี รังสี และมลพิษต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ตลอดจนการให้ความสำคัญในการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งได้ หรือตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆได้ ซึ่งจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่ามะเร็งระยะลุกลาม และหากคลำได้ก้อนผิดปกติเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เนื่องจากโรคนี้สามารถตรวจวินิจฉัยได้ไม่ยาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่น ๆหลายชนิด นอกจากนี้ การรักษาให้มีสุขภาพจิตที่ดีสำคัญไม่น้อยกว่าสุขภาพกาย ผู้ป่วยควรทำจิตใจให้สงบ มีสติ ไม่หวั่นไหว ยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะร่วมมือกับแพทย์เพื่อการรักษาให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์(หลักสี่) เปิดรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน ชนิด Diffuse large B cell lymphoma ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่และไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการตรวจชิ้นเนื้อแบบละเอียดในระดับโมเลกุล และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยเครื่องเพทสแกนในการประเมินระยะของโรคและผลตอบสนองต่อการรักษา (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีข้อมูลยืนยันค่อนข้างชัดเจน ว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และสามารถบอกได้ว่าต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งใดมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั่วไป เนื่องจากมีราคาสูงกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ธรรมดามาก

สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ที่มีผลการตรวจทางพยาธิวิทยาระบุว่าเป็นชนิดเซลล์ Diffuse Large B-cell Lymphoma (DLBCL) ที่ไม่เคยได้รับการรักษาใด ๆ มาก่อน โดยเปิดรับผู้ป่วยใหม่จำนวน 25 ราย ทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุ 18 – 70 ปี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทรศัพท์ 02-5766400-6403 ในวันและเวลาราชการ

ส่วนงานประชาสัมพันธ์
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (หลักสี่)





 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล