หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


ผู้เขียนบทความนี้เป็นอายุรแพทย์ ซึ่งใช้ชีวิตการเป็นอายุรแพทย์มายาวนานถึง 56 ปี เคยเป็นอาจารย์แพทย์ก่อตั้งหน่วยโลหิตวิทยาในสถาบันการแพทย์ถึง 2 สถาบัน คือ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี (2510-2522) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (2525-2533) ปัจจุบันก็ยังเป็นอายุรแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์ไทยมาตลอด โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีหลัง มีความสะเทือนใจและห่วงใยว่า ความเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้เพราะเรากำลังหลงทาง และเดินไปสู่ขอบ “เหว” ซึ่งเมื่อตกลงไปแล้วการแพทย์ไทยก็จะล่มสลาย เมื่อได้ทราบว่ามี พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งประชาชนน่าจะได้ประโยชน์และอาจทำให้วงการแพทย์ไทยฟื้นตัวขึ้น จึงเกิดความสนใจและศึกษา ซึ่งจะขอสรุปผลดังนี้คือ

จุดมุ่งหมายของ พรบ.ฉบับนี้ มี 4 ประการคือ

1) ต้องการชดเชยค่าเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายนั้น ๆ

2) ผู้ป่วยได้ประโยชน์จาก พรบ. ฉบับนี้ เพราะได้เงินชดเชยเร็วขึ้นโดยมาตรฐานบริการทางการแพทย์มิได้ลดลง

3) จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้น้อยลง

4) จะเป็นการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รับ (ผู้ป่วย) และผู้ให้บริการ (แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์)

พรบ.นี้มี 7 หมวด และ 50 มาตรา จากการอ่านพิจารณาดูในฐานะแพทย์ซึ่งมิใช่นักกฎหมาย มีความเห็นว่า พรบ. นี้มีข้อบกพร่องหลายประการที่จะนำไปสู่ความเสียหายแก่การแพทย์และการสาธารณสุขของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย ความวกวน ไม่กระจ่างชัด ขัดแย้งกันเอง ทำให้ พรบ. นี้ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย 4 ข้อต้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อ 1 หมวดที่ 1 ตามมาตรา 5 ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยมิต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่ในมาตรา 6 มีข้อขัดแย้งกันเองกล่าวคือ มีข้อยกเว้นสามข้อซึ่งจะจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 5 ไม่ได้ คือ 1) ความเสียหายเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น ๆ 2) ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ และ 3) ความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ข้อยกเว้นในมาตรา 6 ทั้งสามข้อ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ซึ่งในคณะกรรมการไม่มีผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว การใช้ความเห็นของกรรมการที่ปราศจากความรู้ทางแพทย์ และให้ลงมติโดยการใช้คะแนนเสียง ทำให้การตัดสินเป็นไปโดยขาดหลักเกณฑ์ ปราศจากความยุติธรรม เป็นผลเสียหายทั้งแก่แพทย์และผู้ป่วย นอกจากนั้นการมีข้อยกเว้นต้องพิสูจน์โดยใช้เวลา การจ่ายเงินชดเชยจึงทำไม่ได้ในเร็ววันตามที่กำหนดไว้ ผิดจุดประสงค์ของ พรบ. ข้อ 1 และ ข้อ 2 การไม่ได้เงินชดเชยในระยะเวลารวดเร็วจะนำไปสู่การฟ้องร้องให้มากขึ้น กระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผิดเจตจำนง ข้อ 3 และ ข้อ 4 ของ พรบ.นี้

ข้อ 2 การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย ในหมวด 4 (มาตรา 27-37) มีข้อน่าสังเกตว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น ถ้าผู้เสียหายไม่พอใจ ให้อุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจกับเงินชดเชยจากการอุทธรณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ดังนั้นจะทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จึงเกิดผลเสียหายตามมาคือ

1) ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเลวลง นำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้น การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล มาตรฐานการแพทย์ต่ำลง เพราะผู้ป่วยขาดความเชื่อถือแพทย์ แพทย์ต้องโดนทำร้ายทางจิตใจอย่างมาก เสียทรัพย์สินและอาจจะเสียอิสรภาพ หมดกำลังใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย

2) การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียหายเมื่อมีปัญหา ต้องพิสูจน์โดยกรรมการที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์ การพิจารณาไม่มีหลักเกณฑ์และอาจจ่ายให้โดยพิจารณายังไม่เสร็จเป็นการ ผลาญ เงินจากกองทุน ซึ่งได้จากภาษีอากรของประชาชนซึ่งถูกรีดมาใช้ด้วยวิธีการต่าง ๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรรมการที่ดูแลกองทุนนี้มีสิทธิจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการบริหารจัดการกองทุนมากถึง 10% จากเงินกองทุน โดยไม่ได้ระบุว่ามีกลไกตรวจสอบการใช้เงินอย่างรัดกุมหรือไม่?

ข้อ 3 ที่มาของกองทุน (หมวด 3 มาตรา 20-24)

กองทุนมีที่มาหลายแห่ง ขอวิจารณ์เพียง 2 แห่ง คือ

1. จากโรงพยาบาลเอกชน

2. จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัย

ผลที่เกิดขึ้น

1. โรงพยาบาลเอกชนจะขึ้นค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำมาจ่ายให้กองทุน ผู้ป่วยจะต้องเสียเงินมากขึ้นโดยไม่ได้รับการบริการที่ดีขึ้น

2. โรงพยาบาลของรัฐซึ่งไม่มีเงินอยู่แล้ว คงต้องหาเงินโดยการหักจากงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานที่ต่ำลงทั้งที่ปัจจุบันก็แย่อยู่แล้ว

ข้อ 4 กรรมการบริหารพรบ. (หมวดที่ 2 มาตรา 7-16)

1. คุณสมบัติของกรรมการ ไม่ครบถ้วน ขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือ กรรมการวิชาชีพ ได้แก่ ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนทันตแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเภสัชกรรม ผู้แทนสมาคมแพทย์คลินิกไทย ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ปรากฏใน พรบ.มีเพียงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านบริการสุขภาพ จำนวน 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สื่อสารมวลชน สิทธิมนุษยชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุขด้านละหนึ่งคน

ผู้แทนสภาวิชาชีพเป็นหัวใจสำคัญ จำเป็นมากเพราะต้องดูแลและสร้างมาตรฐานตามมาตรา 6 ที่เป็นด้านวิชาการ ความรู้ไม่ใช่การให้ความเห็น แต่ต้องนำไปวางมาตรฐานในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนต่อไป

กรรมการวิชาชีพดังกล่าวข้างต้นได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ชดเจน

2) ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของกรรมการ เขียนไว้ไม่ชัดเจน ไม่มีข้อจำกัด สามารถปรับไหมผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าไป สามารถฟ้องศาลพิจารณาผู้ที่ไม่ร่วมมือจำคุกได้ 6 เดือน

ปรับไหม ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนช้าถูกปรับเดือนละ 2% ปีละ 24% ไม่ทราบว่ามีหลักเกณฑ์อะไร ในเมื่อดอกเบี้ยนอกระบบยังน้อยกว่านี้ ถ้าพรบ.นี้ร่างโดยนักสิทธิมนุษยชน และแพทย์ที่ได้ MD แต่เลิกไม่ดูแลผู้ป่วยแล้ว ประเทศไทยจะหวังอะไรกับการร่างกฎหมายชนิดนี้?

ลงโทษ ฟ้องศาลจำคุกได้ถึง 6 เดือน เป้าคือใคร? นอกจากแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ผู้ร่าง พรบ.ควรทราบว่า แพทย์และพยาบาลที่จะมีปัญหาในเรื่องคดีส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลรัฐบาล ที่คนไข้ล้นมือจนทำไม่ไหว เมื่อทำไม่ไหวก็ย่อมมีข้อผิดพลาด ถ้าแพทย์หรือพยาบาลต้องเดินทางมาให้ปากคำ คนไข้ก็ไม่มีคนตรวจรักษาดูแล มาตรฐานการแพทย์ก็ยิ่งต่ำลง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ยิ่งเลวลง คนไข้จำนวนมากอาจพิการหรือเสียชีวิตเพราะมีหมอไม่พอจะรักษา

ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ถูกบังคับใช้ จะนำไปสู่ความล่มสลายของการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบคือ รัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้สติและปัญญาพิจารณาไตร่ตรองผลเสียหายที่จะเกิดตามมา รัฐบาลมัวแต่เป็นห่วงแต่คะแนนเสียงของประชาชน ประชาชนชาวไทย “ไม่โง่” แต่ต้องให้เขารู้ความจริงว่า พรบ.ฉบับนี้มิได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเลย มีแต่ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามมา รัฐควรใช้สื่อชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ แทนที่จะตัดสินใจด้วยความกลัวและละเลยต่อปัญหาสำคัญของชาติ

ในปัจจุบันนี้ประชาชนที่ยากจนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะแพทย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการฟ้องร้องระบาดไปทั่วจนแพทย์ “ขยาด” จะให้การรักษาผู้ป่วยหนักในภาวะที่มีความ “จำกัด” ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางแพทย์โดย “รัฐ” ไม่เคยเหลียวแลแก้ปัญหาให้อย่างจริงใจ พรบ.ฉบับนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเดือดร้อนมากขึ้นจนนำไปสู่ความล่มสลายของแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศให้เกิดรวดเร็วขึ้น

เราควรจะปล่อยให้ พรบ.ฉบับนี้ผ่านไปหรือ?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล พ.บ. M.Sc. Med (Penn)




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล