หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
ปี 2568 เตรียมรับมือผู้สูงอายุล้นเมือง เปิดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับท้องถิ่น


วิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น อีกไม่นานสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ดังที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประมาณการว่า ในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ 7.6 ล้านคน เป็น14.5 ล้านคน

ประเทศไทยจึงต้องเตรียมระบบการดูแลผู้สูงอายุไว้รองรับ โดยเฉพาะระบบบริการในชุมชน ดูแลผู้สูงอายุทั้งในด้านสังคม การดำรงชีวิต


มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมระบบดูแลระยะยาวรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดประกอบด้วย สิงห์บุรี นครราชสีมา และปทุมธานี โดยร่วมกับภาคีในพื้นที่ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ และหน่วยบริการสุขภาพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครง การแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุระดับท้องถิ่น" เพราะอีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีผู้สูงอายุ มส.ผส. อธิบายว่า เหตุที่เลือกพื้นที่ต้นแบบใน 3 จังหวัด พัฒนางานคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อแยกเป็นรายจังหวัดจะพบความ น่าสนใจที่ว่า จ.สิงห์บุรี มีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 16.2 และเมื่อศึกษาย้อนหลัง ในปี 2547 และ 2549 พบว่า สิงห์บุรี เป็นจังหวัดที่ครองอันดับ 1 มาโดยตลอด คือ ร้อยละ 14.81 และ ร้อยละ 15.3 ตามลำดับ

ส่วน จ.นครราชสีมา นั้น เนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 2,531,279 คน และมีผู้สูงอายุประมาณ 295,706 คน คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดเป็นอับดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร ประมาณการณ์ว่าในปี 2563 ประชากรของจังหวัดนครราชสีมาจะเพิ่มเป็น 2,934,394 คน และจะมีผู้สูงอายุประมาณ 540,461 คน คิดเป็น ร้อยละ 18.42 แสดงให้เห็นว่า จังหวัดนครราชสีมาได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ขณะที่ จ. ปทุมธานีนั้น มีสังคมที่มีความหลากหลายผสมกันไปตามบริบทของพื้นที่ สังคม และเศรษฐ กิจ เช่น ในเมืองรังสิต จะมีความเจริญแบบเมืองเพราะติดกับ กรุงเทพมหานคร ขณะที่ บางพื้นที่ เช่นต.ระแหง ปัจจุบันมีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพสังคมกำลังกลายเป็นสังคมกึ่งเมืองอุตสาหกรรม แต่ ต.หนองสามวัง ยังคงความเป็นสังคมชนบท อยู่เพราะมีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดในจังหวัด ความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่จึงมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุระดับท้องถิ่น ครอบคลุม 5 ประเด็นได้แก่ 1 .การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว 2. การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุด้านการเรียนรู้ มีงานทำ และมีรายได้ 3.การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ (สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีอายุ 50-59 ปี) 4.การจัดปรับอาคาร สถานที่ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และ5 .จัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อใช้ในงานผู้สูงอายุระดับท้องถิ่น ระยะเวลาตั้งแต่ 1 มีนาคม - 28 กุมภา พันธ์ 2556 เป็นไปตามมติของของสมัชชาผู้สูงอายุ ปี 2552 เพื่อการสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างยั่งยืน ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมนำรูปแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้ในระยะต่อไปด้วย

นายเสรี ไชยกิตติ นายกเทศบาลจอหอ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เทศบาลจอหอ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี เทศบาลจึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพในด้านต่างๆของผู้สูงอายุ เพื่อให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีคุณค่า เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ยั่งยืน

"ที่ผ่านมางานในด้านการดูแลผู้สูงอายุของเทศบาลส่วนใหญ่ มีลักษณะการให้ความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ เน้นการให้ การบริจาค มากกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน เช่น การดำเนินการแจกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท การนำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงตรวจสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ หรือการจัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุแต่การช่วยเหลือเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้"นายเสรีกล่าว

ขณะที่นายสมศักดิ์ มุกทอง ประธานชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลท่าช้าง ต.โพประจักษ์ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ใน ต.โพประจักษ์ ที่อยู่ในภาวะลำบาก ไร้ลูกหลานดูแล ขณะที่สวัสดิการของรัฐกระจายไม่ทั่วถึง และไม่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ แต่หลังจากที่ อปท.ร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมและดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสังคม ส่วนการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดพัฒนางานดูแลผู้สูงอายุให้เป็นระบบและยั่งยืนและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

"เพราะไม่อยากให้ผู้สูงอายุต้องอยู่อย่างลำบาก ไร้การดูแล ทุกคนในชุดชุมชนเห็นความสำคัญและช่วยดูแลซึ่งกันและกัน การจัดกิจกรรมต่างๆให้กับผู้สูงอายุ จะเป็นการสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุไม่เหงา เพราะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันตลอดเวลา ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี และมีอายุยืนมากขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายสมบัติ วงศ์กวน นางยกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสามวัง ปทุมธานี กล่าวว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใน จ.ปทุมธานี มีฐานะยากจน การดูแลผู้สูงอายุนอกจากจะเน้นด้านการดูแลด้านสุขภาพด้วยการจัดโครงการออกกำลังกายและตรวจสุขภาพเป็นประจำต่อเนื่อง เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจหาค่าน้ำตาลในเลือด กิจกรรมการออกกำลังกาย การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคและชะลอความรุนแรงจากโรคที่เป็น

เขา บอกว่า คาดว่าแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อใช้ในงานผู้สูงอายุระดับท้องถิ่นจะทำให้การทำงานมีระบบมากขึ้น สามารถติดตามผลการทำงาน ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุด้านการเรียนรู้ มีงานทำ และมีรายได้ จะสนับสนุนการสร้างให้ผู้สูงอายุใช้ภูมิปัญญา สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับตัวเอง

นับถอยหลังอีกไม่กี่อึดใจ สังคมไทยจะก้าวเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ การเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง...




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล