หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันจันทร์ ที่ 18 เดือนตุลาคม 2553 ]
เด็กนอกระบบการศึกษา 3 ล้านคน !! ถึงเวลาร่วมกันแก้ปัญหา-ตัดตอน"ยุวอาชญากร"


ปัญหาเด็กนอกระบบ ที่มักถูกจำกัดความด้วยบริบทที่หลายหลาย ไม่ว่าจะเด็กยากจน เด็กพิการ เด็กกระทำความผิด เด็กเลิกเรียนกลางคัน เด็กย้ายโรงเรียน เด็กย้ายถิ่นอพยพตามพ่อแม่ เด็กชายขอบ เด็กไร้ครอบครัว เด็กเร่ร่อน เด็กที่กำเนิดจากคนต่างด้าว เด็กที่หนีหรือหลุดรอดออกจากโรงเรียน เด็กที่มีชื่ออยู่กับสถานศึกษาแต่ในความเป็นจริงไม่มีโอกาสได้เรียน หรือเด็กที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าโรงเรียน

ต่างๆเหล่านี้ กลายเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "ปัญหาเด็กนอกระบบ" เป็นเพียงเรื่องของ "เขา" และไม่ใช่เรื่องของ "เรา (คนไทย)" อีกต่อไป

ช่วงที่ผ่านมา รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (กปน.) และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ร่วมกระเทาะปัญหาสถานการณ์เด็กนอกระบบไทย ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็น "เจ้าภาพ" ที่ชัดเจน ในรายการ "บ่ายนี้มีคำตอบ" ช่อง 9 เมื่อเร็วๆนี้

รศ.ดร.สมพงษ์ เจ้าของวาทกรรม "เด็กล่องลอย" กล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ร่วม 3 ล้านคน แบ่งเป็น เด็กเร่ร่อนประมาณ 3 หมื่น ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในครอบครัว อยู่ในท้องถนน เด็กกำพร้าประมาณล้านคน เด็กตั้งครรภ์เป็นคุณแม่วัยใสอายุต่ำกว่า 18 ปีประมาณ 1.2 แสนคน กลุ่มยุวอาชญากรที่ถูกจับกุม 5 หมื่นคน และที่ยังวนเวียนอยู่ในสังคมร่วมแสนคน และเด็กไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติอีก 9.7 แสนคน "แม้เศรษฐกิจอาจจะส่อเค้าดี แต่ภาคสังคมแย่ มีอัตราเด็กตั้งครรภ์และหย่าร้างสูง พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยเงิน ทำให้หย่อนศีลธรรม ก็สร้างให้เกิดปัญหายุวอาชญากร ประกอบกับเด็กนักเรียนต้องผ่านมาตรฐานการศึกษาภาคบังคับ ฉะนั้นเด็กหลังห้อง ก็จะค่อยๆถูกคัดออกจากระบบการเรียน ล่าสุดนายก รัฐมนตรีก็ระบุชัดว่า มีเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 1.6 แสนคน ที่ต้องไปล่องลอยในชุมชน กลายเป็นเด็กล่องลอยในร้านเกมส์ ในศูนย์การค้า ในผับบ้าง กลายเป็นห่วงโซ่อันตรายรอบตัว สุดท้ายก็เข้าสู่วงจรอาชญกรรม" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ขณะที่นพ.สุภกร สะท้อนปัญหาเด็กนอกระบบว่า มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น เด็กหนึ่งคนมีหลายปัญหา ซึ่งจะทำให้สังคมไทยโตขึ้นอย่างไม่มีคุณภาพและไร้สัมพันภาพระหว่างกัน นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

"เมื่อเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ก็หารายได้ที่เลี้ยงตัวไม่ได้ อาจเข้าสู่วงจรอาชญากรรม โดยสหรัฐ อเมริกาได้ศึกษาชัดเจนว่า เด็กพวกนี้มีโอกาสเป็นอาชญากรมากถึง 7 เท่า และอายุสั้นกว่าเด็กปกติราว 9 ปี ทำให้เกิดผลพวงแก่สังคม ฉะนั้นถ้าเด็กกลุ่มนี้ เรามองว่าเป็นธุระไม่ใช่ ต่อไปเราก็ลำบาก ถ้าหากเราไม่อยากไปยุ่ง เด็กกลุ่มนี้ก็จะเกิดการสะสมเมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สุดท้ายลูกเราลูกเขา ก็จะต้องอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ปัญหาที่เคยมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นหน้าที่ของรัฐ ก็จะเป็นเรื่องของเราทั้งประเทศ" ผู้จัดการ สสค. กล่าว และเสริมว่า

"สติถิชี้ชัดเจนว่า แรงงานไทยไม่สามารถแข่งขันสู้เพื่อนบ้านได้ เคยมีคนวิเคราะห์ว่า เมื่อ 30 ปีก่อน เปรียบเทียบคนงานไทยกับสิงคโปร์ ปรากฏว่า คนสิงคโปร์ 1 คน ทำงานได้เท่าคนงานไทย 2 คน ปัจจุบันกลายเป็น คนงานสิงคโปร์ 1 คน ทำงานได้เท่ากับคนไทย 4 คน ยิ่งเมื่อเทียบกับมาเลเซีย จากที่เคยทำงานได้คุณภาพเท่าเทียมกัน ล่าสุดคนงานมาเลเซีย 1 คนทำงานได้เท่ากับคนไทย 3 คน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่ระบุว่า แรงงานไทยกว่า 2 ใน 3 นั้นจบไม่เกินชั้นประถม ทำให้เราสู้เขาไม่ได้ เพราะเมื่อทักษะแรงงานต่ำลง แต่ค่าจ้างสูงสวนทางกัน ทำให้เอกชนเริ่มย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น"

ส่วนจะเริ่มนับหนึ่งอย่างไรกับปัญหา "เด็กนอกระบบ" นั้น รศ.ดร.สมพงษ์ ฟันธงว่า ต้องเริ่มจากกระบวนการ "เอ็กซ์เรย์ (X-Ray) เด็กในพื้นที่" ไปพร้อมๆกับการหา "เจ้าภาพ" ที่ใกล้ชิดกับเด็ก และชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินความสะดวก เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันทั้งชุมชน ทำให้เกิดการลงแขกการจัดการร่วมกัน ฉะนั้นองค์กรส่วนท้องถิ่นไม่ได้จัดการเพียงลำพัง

"ยกตัวอย่าง การแก้ไขปัญหาเด็กแว๊นขับมอเตอร์ไซต์แข่งกันทั้งคืน เราก็ต้องคิดนอกกรอบ เปิดใจยอมรับความชอบของเด็ก และพยายามหากิจกรรมที่เขาสนใจ สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้ก็กลายมาเป็นช่างมอเตอร์ไซต์ ฉะนั้นการแก้ไขต้องไม่ใช่การประณาม แต่ต้องซื้อใจเด็ก ด้วยการให้พื้นที่ทำกิจกรรม สร้างอาชีพ ต้องเริ่มจากมองว่า เขาเป็นเหมือนลูกเหมือนหลานเรา คนเราไม่ได้มีข้อเสียทุกเรื่อง แต่ก็มีข้อดีในตัวเองด้วย"

เช่นเดียวกับผู้จัดการ สสค. ก็มองว่า "เทศบาล" น่าจะเป็น "เจ้าภาพ" ในส่วนท้องถิ่น ที่เหมาะสมที่สุด เพราะแม้เด็กจะออกจากโรงเรียน แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในท้องถิ่น จนเป็นที่มาของ "โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น(เทศบาล) ครั้งที่ 1/2553" ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทุน และจะพร้อมดำเนินการในเดือนมกราคมปี 2554 เพราะเชื่อมั่นว่า หากปล่อยเด็ก 3 ล้านคนไว้ก็จะเกิดการสะสมเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนคน ซึ่งหากปล่อยไปจะส่งผลอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะอาจกลับมาทำลายเด็กอีก 9 ล้านคนที่อยู่ในระบบการศึกษา

ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการจัดการใหม่ ด้วยการมองว่า "เด็กนอกระบบ เป็นปัญหาของเรา ไม่ใช่ของใคร" เมื่อประกอบกับการมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในเชิงนโยบาย และการกระจายงานอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเด็ก 3 ล้านคนที่ตอนนี้เป็นปัญหาเร่ง ด่วนร่วมกันของคนไทยทั้งชาติอย่างแน่นอน!!!




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล