หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันพฤหัสบดี ที่ 14 เดือนตุลาคม 2553 ]
มีเกลื่อนเกิน 4 แสนคน"ลูกเลี้ยงเดี่ยว"


กระแส “ซิงเกิ้ลมัม” หรือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ผู้หญิงเลี้ยงลูกเองคนเดียวโดยไม่มีสามี ไม่มีผู้ชายที่เป็นพ่อของลูกอยู่ในครอบครัว ในเมืองไทยปัจจุบันนับวันจะได้ยิน-ได้เห็นกันมากขึ้น ซึ่งกับกรณีข่าวครึกโครมของคนในแวดวงดารา กรณีดาราหญิงรายหนึ่งตั้งท้องมีลูกโดยไม่ชัดเจนเรื่องพ่อของลูก ก็มีการพูดถึงคำว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว

แต่จริง ๆ เรื่องแบบนี้มีทั้ง “แม่เลี้ยงเดี่ยว-พ่อเลี้ยงเดี่ยว”

และ “ลูกไร้พ่อ” หรือ “ลูกไร้แม่” มีอยู่หลายแสนคน !!


“เฉพาะที่เข้าเรียนเป็นนักเรียนแล้ว ณ ปัจจุบันทั่วประเทศมีตัวเลขถึงกว่า 4 แสนราย ซึ่งอนาคตจะเป็นเช่นไร? สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไร?” ...เป็นการระบุของ ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ต่อกรณีเด็กที่เป็นลูก “แม่เลี้ยงเดี่ยว” และ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว”

ทั้งนี้ ครูหยุยระบุว่า... เรื่องนี้นับว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ และยากจะพยากรณ์ได้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร? ซึ่งต้นเหตุปัญหาที่สำคัญคือปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเซ็กซ์กันง่าย มีส่วนที่เป็นแบบไปเรื่อย ๆ ทั้งหญิง และชาย ซึ่งกรณีฝ่ายหญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อตั้งท้อง โดยไม่เลือกที่จะทำแท้งซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งผิด ก็จะอยู่แบบภาวะจำยอม หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทน ๆ เลี้ยงลูกไป หรือเอาลูกไปให้ญาติเลี้ยงดู ก็จะมีหลายรูปแบบพฤติกรรม

เมื่อเทียบดูจากสถิติการทิ้งลูก ที่ไม่ได้มีมากขึ้น แสดงว่าเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่ถูกทิ้งมีมาก คือมีการเลี้ยงดูเด็ก แต่สภาพความเป็นอยู่คงจะไม่ได้ดีมาก เพราะเพียงแค่แม่เดี่ยว หรือพ่อเดี่ยว หาเงินมาเลี้ยงได้ก็เก่งมากแล้ว

“ส่วนการที่เด็กจะเติบโตมาแล้วมีแบบอย่างที่ดีนั้น คงจะยากน่าดู และเรื่องสภาพจิตใจของเด็กนั้น เมื่อเกิดมาท่ามกลางคำว่าถูกทอดทิ้ง ก็จะแห้งแล้ง ไม่ยินดียินร้ายกับสภาพสังคม และมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งดูตัวอย่างได้จากเด็กในสถานพินิจ ที่คล้ายจะมีบาดแผลในชีวิต หรืออยู่ในสภาพอับจนกดดัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดจะเป็นเช่นนี้ เด็กในเมือง และเด็กในชนบท ก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู และนิสัยของเด็ก” ...ครูหยุยกล่าว

ขณะที่ ครูยุ่น-มนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ระบุถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า... โดยธรรมชาติแล้วเด็กจะต้องอยู่กับทั้งพ่อและแม่ เพื่อที่จะซึมซับกับการสอน ตัวอย่าง และประสบการณ์ของพ่อแม่ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งถ้าซึมซับในแง่บวก ก็จะดี แต่ถ้าซึมซับในแง่ผิด และรุนแรง ก็จะอันตราย

การที่เด็กกลายเป็น “ลูกเลี้ยงเดี่ยว” ในระบบครอบครัวแบบแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว สิ่งที่เด็กจะประสบพบเจอคือการ “ขาดโอกาส” ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้บทบาทการเป็นสมาชิกในครอบครัว

“เด็กจะขาดโอกาสในการเรียนรู้จากพ่อ หรือแม่ ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการปลูกฝังหรือการมีความประทับใจที่ดีนั้น ส่วนมากจะอยู่ในวัยเด็ก วัยเรียน วัยอนุบาล วัยประถม ซึ่งเด็กจะประทับใจเกี่ยวกับความดี ความเมตตากรุณา จากพ่อแม่ และจากคุณครู” ...ครูยุ่นระบุ

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ก็สะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า... เด็กที่เป็น “ลูกแม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือเป็น “ลูกพ่อเลี้ยงเดี่ยว” เป็นผลพวงที่เกิดมาจากบรรทัดฐานการสอนเรื่องเพศที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย ทำให้เกิดการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์

แล้วเกิดปัญหา “ไม่มีวุฒิภาวะในการเป็นพ่อ-เป็นแม่”

กับเรื่องนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถฯ ยังบอกอีกว่า... โดยส่วนตัวมองว่าความเป็นครอบครัวในฝันที่ประเสริฐสุดคือการที่เด็กอยู่ภายใต้ครอบครัวที่ห้อมล้อมไปด้วยพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ซึ่งเป็นแพตเทิร์นหรือรูปแบบของครอบครัวในฝัน เป็นแพตเทิร์นที่ประเสริฐที่สุด แต่ในเมื่อไม่ได้เป็นแบบนี้ ก็อาจจะมีปัญหาต่าง ๆ

ยกตัวอย่าง... ปัญหาเวลาที่เด็กไปโรงเรียน เช่น ตอนเรียน วิชาวาดรูป แล้วต้องวาดรูปครอบครัว ก็จะจินตนาการไม่ออกถึงครอบครัว เพื่อน ๆ มีพ่อมีแม่ครบ แต่ตนเองไม่มี หรือตอนวันพ่อ หรือวันแม่ ที่โรงเรียนมีการจัดงานวันพ่อ-วันแม่ พ่อหรือแม่คนอื่นก็จะมาให้ลูกไหว้ในวันดังกล่าว แต่ตนเองไม่มี ซึ่งก็จะเกิดปมในใจ

เด็กจะ “มีปมด้อย”

“อย่างไรก็ตาม คิดว่าปัญหานี้แก้ไขได้ หากคนซึ่งเป็นพ่อ เป็น แม่ หรือคนในครอบครัว จะให้ความสำคัญโดยคำนึงถึงประโยชน์ สูงสุดกับเด็กเป็นที่ตั้ง และตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อเตรียม ตัวให้เด็ก เพื่อที่ในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะไม่กลายเป็นเด็กที่มีปัญหา” ...ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถฯ ระบุ

ทั้งนี้ จากที่ทั้งสามผู้สันทัดกรณีด้านเด็กระบุมาทั้งหมด ก็พอ จะฉายภาพให้เห็นว่ากรณี “แม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ที่ในไทยก็มีไม่น้อย ลึก ๆ จริง ๆ แล้วผู้ที่ต้องรับสภาพหนักสุดก็คือ “ลูก เลี้ยงเดี่ยว”

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” โอกาสมีใครมาช่วยเลี้ยงลูก...ไม่ยากนัก

“แม่เลี้ยงเดี่ยว” โอกาสอาจยากขึ้นนิด...แต่ก็ใช่ว่าไม่มี

แต่ “ลูก” นี่สิ...ถึงมีพ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยง...ก็อาจยิ่งแย่??.




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล