หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
แนะสาวยุคใหม่กินครบ 5 หมู่ เสริมแคลเซียม ป้องกันกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ แต่นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และแนวโน้มของผู้มีความเสี่ยงหรือป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนนับวันจะมีอายุน้อยลง ล่าสุดพบว่า คนทำงานวัย 30 ต้นๆ เริ่มประสบปัญหากับโรคดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาวๆ เสี่ยงมากว่าผู้ชาย ทั้งที่โรคดังกล่าวนี้สามารถป้องกันได้ หากรู้จักวิธีการดูแลรักษาสุขภาพกระดูกของเราอย่างถูกวิธี

ซึ่งในปัจจุบันเรามักพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกี่ยวกับกระดูกออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย ทั้งนี้ก็เพื่อยื้อความแข็งแรงของโครงสร้างร่างกายเอาไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรู้โอกาสเกิดความเสื่อมของกระดูก่อนล่วงหน้า จะช่วยให้คุณวางแผนควบคุมให้ความเสื่อมนั้นมาเยือนช้าลงได้

วรัญญา เกวลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการตลาด บริษัท ไบโอโกรว์ (ทีเอช) จำกัด กล่าวว่า โรคกระดูกพรุน ถือว่าเป็นภัยเงียบที่ต้องระวังโดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งขณะนี้โรคกระดูกพรุนมีแนวโน้มขยายตัวมากในประเทศไทย เนื่องจากตัวเลขผู้สูงอายุมากขึ้น และอีกสาเหตุเนื่องจากปัจจุบันคนไทยบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ โดยเฉพาะคนที่ไม่ดื่มนมและไม่ชอบทานปลา ขณะที่พฤติกรรมของคนไทยที่ได้รับวิตามินน้อยลง จากการที่ไม่ต้องการเจอแสงแดดมาก เพราะวิตามินดีมีประโยชน์ในการช่วยดูดซับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย แนวโน้มของโรคกระดูกพรุนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศโดยรวม ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคภาวะกระดูกพรุนที่มหาศาล

“เมื่อเรารู้ว่าภาวะกระดูกพรุนนั้น ส่งผลต่อความเสียหายต่อร่างกายในอนาคตแน่นอน เราจึงควรหันมาเอาใจใส่กับตัวเองมากขึ้นด้วยการหาวิธีป้องกันง่าย ๆ คือ เสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูกให้มากที่สุด ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและหนุ่มสาว ซึ่งทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ครบหมู่ รวมทั้งทานแคลเซียมเสริมขั้นต่ำ วันละประมาณ 600 มิลลิกรัม วิตามินดี และแร่ธาตุ ที่จำเป็นในการเสริมสร้างกระดูก อาทิ แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น อีกทั้ง การออกกำลังกายก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูก และลดภาวะสูญเสียกระดูกได้”

นอกจากนี้ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ช่วยเสริมแคลเซียมให้กับกระดูก ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ดังนั้น หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง การปรับพฤติกรรมของคุณตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ และขอย้ำว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการเยียวยารักษาอย่างแน่นอน”

พิมพ์ชิน ภัคพัฒน์ชนม์ เซเลบริตี้สาวสุดมั่น เสริมว่า บางครั้งมีอาการปวดที่หัวเข่า ปวดหลังเหมือนกัน ก็พยายามไปเข้าสปา และนวดแผนไทยเพื่อช่วยผ่อนคลาย เพราะคิดว่าเดี๋ยวคงหายไปเอง จนกระทั่งเริ่มสังเกตว่าอาการเหล่านี้น่าจะมีสาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การชอบใส่รองเท้าส้นสูง การสะพายกระเป๋าหนัก การเดินหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ประกอบกับได้ไปปรึกษาคุณหมอ ซึ่งยืนยันว่าพฤติกรรมที่ว่ามาล้วนส่งผลต่อโครงสร้างของร่างกายทั้งสิ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มหันมาดูแลและฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายอย่างจริงจัง

“การจะให้ผู้หญิงเลิกพฤติกรรมเดิมๆ อย่างการใส่รองเท้าส้นสูง การนั่งขับรถนานๆ คงเป็นเรื่องที่ยาก แต่คงต้องเริ่มจากค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดจนท่าทางการเดิน การนั่งให้ถูกวิธี รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกวิธี เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่อาหารเสริมที่ในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดมาให้เราได้เลือกทาน ทั้งหมดก็เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาโครงสร้างร่างกายได้เช่นกัน”

สุทธิกัญญา ไทยเพ็ชร ปิดท้ายว่า เมื่อก่อนมักจะคิดว่าการเสื่อมถอยของร่างกายจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา แต่ตอนนี้เริ่มสังเกตว่าตนเองก็มีอาการปวดหลัง และปวดกระดูกข้อมือเหมือนกัน แต่ก็ปล่อยเอาไว้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เดี๋ยวก็หายเอง จนวันหนึ่งเจ็บจนทนไม่ไหวจึงไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ทราบว่าตนเองเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งสาเหตุหลักๆ นั้น มาจากความเสื่อมของร่างกายที่ถูกใช้งานมานานหลายปี ตอนนี้เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาร่างกายมากขึ้น เริ่มหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหาตัวช่วยอย่างอาหารเสริมมาทาน โดยต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน คือเราต้องพยายามสะสมกระดูกเอาไว้ให้มากที่สุด ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยรับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้แคลเซียมสูง หรือการสัมผัสแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้าเพียง 10-15 นาทีต่อวัน เพราะว่าแสงแดดอ่อนๆ มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของแคลเซียม ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้”




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล