หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
จดหมายจากแพทย์ ความเห็นต่อพ.ร.บ.ผู้ป่วย


สืบเนื่องจากบทความของผู้เขียน เรื่อง “แพทย์-ผู้ป่วย หันหน้าคุยกันดีกว่า” ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ซึ่งผู้เขียนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ต่อกรณีความขัดแย้งเห็นต่างระหว่างแพทย์ และเครือข่ายผู้ป่วย และเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะหันมาคุยกันดีกว่า

ในเวลาต่อมา ผู้เขียนได้รับจดหมายจาก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ที่กรุณาส่งความเห็นวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนชิ้นดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนขอน้อมรับ จึงนำเนื้อหาจดหมายบางส่วนมาลงในที่นี้เพื่อให้เห็นมุมต่างของแพทย์ต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้

พญ.เชิดชู ได้มีข้อความวิพากษ์ผู้เขียนที่ต้องการเห็นแพทย์และผู้ป่วยหันหน้าคุยกัน มีเนื้อหาดังนี้ ผู้เขียนบทความจับกระแส (หมายถึงผู้เขียน) ยังไม่ได้อ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล เพราะถ้าเธออ่าน พ.ร.บ.นี้ทุกมาตรา ไม่ใช่อ่านเฉพาะหลักการและเหตุผลในการร่างกฎหมายแล้ว

พญ.เชิดชู ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบผลของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ดังนี้ มีคนอ่านหนังสือพิมพ์อ้างว่า ได้รับผลเสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวที่มีอคติ ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาล เพราะคิดว่าเสียเวลาค้าความ และกินเวลานานกว่าที่ศาลจะตัดสินคดี และอาจจะไม่ชนะคดี

ก็เลยตั้งเครือข่ายผู้เสียหายจากการลงข่าวของนักข่าว และพยายามไปผลักดันรัฐบาลให้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ พ.ศ. .... โดยมีการเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับละ 5 บาท (ทุกฉบับ) เข้ากองทุน ถ้าสำนักพิมพ์ไหนไม่จ่ายเงิน ให้คิดเป็นค่าปรับร้อยละ 2 บาทต่อเดือน และถ้ายังดื้อดึงไม่จ่ายก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้บังคับให้จ่ายเงิน

ที่สำคัญก็คือ ใน พ.ร.บ.กำหนดไว้ว่า ประชาชนที่อ้างว่าเสียหายนั้น มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการเพื่อขอทั้งค่าช่วยเหลือเบื้องต้น และค่าชดเชยความช่วยเหลือและค่าชดเชยทั้ง 2 คณะ ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้อีก และถ้าผู้ร้องไม่พอใจจำนวนเงินที่คณะกรรมการพิจารณาจ่ายให้ ก็อาจนำคดีไปฟ้องทั้งศาลแพ่งและศาลอาญาได้อีก

ถ้าศาลตัดสินให้สำนักพิมพ์หรือนักข่าวจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย กองทุนที่เก็บเงินสำนักพิมพ์ล่วงหน้าไปแล้ว จะจ่ายเงินจากกองทุนตามคำสั่งศาลหรือไม่ก็ได้ (ถ้ากองทุนไม่จ่าย สำนักพิมพ์หรือผู้ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายเอง ทั้งๆ ที่กองทุนเรียกเก็บเงินล่วงหน้าไปแล้ว)

และถ้าศาลตัดสินว่านักข่าวไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ละเมิดผู้ฟ้อง ผู้ฟ้องยังมีสิทธิกลับมาขอเงินค่าเสียหายจากกองทุนได้อีก ท่านผู้อ่านทั้งหลายเคยเห็นกฎหมายฉบับใด ที่เขียน “ให้” แก่ “ประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ฝ่ายเดียว” อย่างนี้บ้าง ฉะนั้น ถ้าจะเกิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ตามที่กล่าวมา ท่านนักข่าวทั้งหลายจะยอม “หันหน้ามาคุยกัน” กับเอ็นจีโอและรัฐมนตรีผู้ผลักดัน พ.ร.บ.นี้หรือไม่?

สิรินาฏ ศิริสุนทร




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล