หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
สอนเรื่องรักกับวัยรุ่น เปลี่ยน'ห้าม'เป็น'ถาม'


เมื่อศรรักปักอกลูกวัยรุ่น หัวใจของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมหวงและห่วงลูกมากเป็นธรรมดา ก็เพราะรักมากนั่นเอง จนบางครั้งงัดกฎเหล็กออกมาใช้สารพัด จนลูกวัยรุ่นวัยหัวเลี้ยวหัวต่ออึดอัด จนพาลโกรธเกลียดกระฟัดกระเฟียด

ที่โชคร้ายหน่อยหากความสัมพันในครอบครัวไม่แนบแน่น พ่อแม่ไม่เปิดใจยอมรับฟังเหตุผล ปิดกั้น ยึดตนเป็นศูนย์กลางและมองว่ารักเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้ลูกปิดบังซ่อนเร้น สิ่งเหล่านี้ยิ่งน่ากลัวกว่า เพราะความรักนั้นเหมือนดาบ 2 คม มีพลังในการสร้างสรรค์และพร้อมจะทำลายล้าง


จากงานเขียนเรื่อง "รักแท้... เพื่อลูกรัก สอนเรื่องรักกับวัยรุ่น" โดย นายเดชาวุธ มงคล นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ สถานพินิจฯ จ.เชียงราย ในวารสาร "สารพินิจ" เล่มล่าสุด มีประเด็นชวนคิดที่กล่าวถึงเรื่องความรัก พร้อมให้แง่คิดน่าสนใจ

ด้วยรักวัยเรียน กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสายตาผู้ปกครอง นั่นเพราะผู้ปกครองรักและห่วงใย กลัวว่าความรักจะทำให้เสียการเรียน ทำให้เกิดการตบตีแย่งคนรัก ทำให้มีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร แต่ยิ่งห้ามยิ่งบ่น ลูกๆ หรือเยาวชนที่อยู่ในวัยรุ่นมักอยากรู้อยากเห็น อยากลองในสิ่งที่ห้าม ดังคำกล่าวที่ว่า ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ และจะปกปิดเรื่องราวต่างๆ กับผู้ปกครองทุกวิถีทางที่จะทำได้ อันเป็นเหตุนำมาซึ่งเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้ปกครองกลัวและกังวลมาตลอด

เมื่อรู้ถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ว่า "ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ" เราลองเปลี่ยนจาก "การห้ามมาเป็นการถาม และฟังเสียง ของวัยรุ่นบ้างจะดีไหม" โดยมาสร้างความเข้าใจอันเป็นเกราะป้องกันในเรื่องเรียน เรื่องรักอย่างเหมาะสม เพื่อให้เขาได้รู้จักคิด แยกแยะ และตัดสินใจด้วยตนเอง โดยมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยกลยุทธ์ดังนี้

หลักในการพูดคุยกับลูกๆ หรือเด็กและเยาวชนในเรื่องของความรัก หากเราต้องการให้ลูกไว้ใจ เชื่อใจและไม่ปิดบังเรื่องส่วนตัวให้เราได้รับรู้

1. ควบคุมความกังวลใจของเราให้ได้ เมื่อลูกเริ่มมีแฟน มีความรัก เรามักจะเกิดความกังวลใจเพราะความเป็นห่วงมากเกินไป ทำให้เราไม่เข้าใจลูกและจะไม่ยอมฟังเหตุผลของลูก

2. ควรเล่าเรื่องความรัก การมีแฟนของเราในวัยรุ่นให้ลูกได้รับฟัง เพื่อเป็นการสนทนาให้ลูกได้คิด แต่ไม่ใช่คิดให้ลูก

3. ควรให้เวลากับลูกสำหรับการพูดคุยและอยู่ร่วมกันในวันหยุด โดยการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว สัก 1 วันต่อ 1 สัปดาห์ เช่นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันแห่งครอบครัว โดยใช้เวลาดังกล่าวเป็นโอกาสในการพูดคุยทำกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน อาทิ ออกไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกัน หาเช่าหนังดีๆ สนุกๆ มาดูร่วมกัน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัวและเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคยและกล้าเล่าเรื่องของตนเองให้เราฟังได้

4. อย่าใช้คำถามปลายปิดกับลูก โดยให้พูดคุยกับลูกด้วยคำถามปลายเปิด พูดคุยกับเขาทุกๆ เรื่อง ให้เขาได้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่ตัดสินใจให้ลูกตลอดเวลา โดยเราก็คอยดูแลแนะนำลูกอยู่ห่างๆ

5. ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนแน่นอน

ความรักเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าต้องมีสติ พูดคุยกับลูกอย่างละมุนละม่อม และต้องเป็นโค้ชคอยให้กำลังใจ แนะนำ และยืนอยู่ข้างเขา




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล