หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันพุธ ที่ 25 เดือนสิงหาคม 2553 ]
สารสกัดจากถั่วขาว มหัศจรรย์ ลดอ้วน ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม?


"กินแล้วสกัดการย่อยแป้ง ไม่ให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล ร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารไม่พอจะดึงเอาไขมันส่วนเกินมาใช้ ลดอ้วนได้อย่างปลอดภัย เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องอดอาหาร" ชัวร์ หรือมั่วนิ่ม

ถั่วขาว (White Kidney Beans) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า ถั่วแขก และถั่วพู ปัจจุบันมีการนำถั่วขาวมาสกัดและเติมในอาหารต่างๆ ที่พบมากคือในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผล ฯลฯ และมีการโฆษณาโดยใช้ภาพหรือข้อความสื่อให้เข้าใจว่าช่วยลดน้ำหนักเผยแพร่ในลักษณะบทความรู้แจกแนบไปกับผลิตภัณฑ์ หรือ แฝงอยู่ในนิตยสารสื่ออินเทอร์เน็ต


สารสกัดจากถั่วขาว มีดี ...อย่างไร

จากข้อมูลพบว่าเมื่อนำถั่วขาวมาสกัด จะได้สารสำคัญชื่อ "ฟาซิโอลามิน" (Phaseolamin) ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเดส (Amylase) ซึ่งมีหน้าที่ย่อยแป้งดิบและแป้งสุกที่ลำไส้เล็ก ทำให้อาหารประเภทแป้งที่เราบริโภคเข้าไปไม่เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลทั้งหมด โดยสาร "ฟาซิโอลามิน" ในถั่วขาว มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการย่อยแป้งเป็นน้ำตาลถึง 66% แป้งที่เราบริโภคเข้าไปจึงไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทั้งหมด การสะสมของไขมันที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปของน้ำตาลจึงลดลงด้วย เมื่อร่างกายได้รับพลังงานลดลงจึงดึงเอาไขมันเก่าที่สะสมไว้มาเผาผลาญ ทำให้ไขมันในร่างกายลดลงด้วยโดยสารสกัดจากถั่วขาว "ฟาซิโอลามิน" ประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวันมีข้อมูลว่ามีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม มีหลายข้อมูลที่ระบุว่าการบริโภคสารสกัดจากถั่วขาวเพื่อหวังผลตามโฆษณาเป็นไปได้ยาก หรือ ไม่ได้ช่วยด้านลดน้ำหนักแต่อย่างใดเนื่องจากสาร "ฟาซิโอลามิน" ที่ยับยั้งเอนไซม์อะไมเลสอาจจะแตกตัวหรือสลายไปตั้งแต่เข้าสู่กระเพาะอาหารแล้ว เพราะด้วยฟาซิโอลามินเองก็เป็นโปรตีน ซึ่งจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหาร บ้างกล่าวว่ารางกายคนเรามีเอนไซม์อะไมเลสในปริมาณมากเกินกว่าที่สารสกัดเหล่านั้นจะไปยับยั้งได้จริง และถึงจะยับยั้งได้จริง ร่างกายเราก็มีกลไกที่จะเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ให้มากขึ้น เพื่อใช้ย่อยคาร์โบไฮเดรตได้อยู่ดี อีกทั้งกลไกร่างกายซับซ้อน การทดสอบในหลอดทดลองหรือในสัตว์ อาจไม่ได้ผลในมนุษย์ นอกจากนี้พบว่าแม้แป้งจะถูกสารนี้ยับยั้งไว้ได้บ้าง แต่ก็จะมีบางส่วนของแป้งที่ไม่ถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็กผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ และเกิดการหมัก เกิดกรดไขมันสายสั้นดูดซึมเข้าร่างกายได้อยู่ดี สำหรับกรณีที่ทดสอบกับคนและได้ผลนั้น ตอ้งพิจารณาจำนวนตัวอย่าง เงื่อนไขการทดสอบ หลักเกณฑ์ / วิธีการวิจัยด้วย ควรต้องดำเนินการถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย และด้วยวิธีการที่ยอมรับได้

ลอง ...อย่างไร คุ้มค่ามากที่สุด

แม้จะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าสารฟาซิโอลามิน ช่วยลดอ้วยได้จริงหรือไม่แต่เชื่อว่าหลายท่านคาดหวังประโยชน์จากสารนี้ และประสงค์จะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากถั่วขาว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดการสูญเสียเงินอย่างสูญเปล่า ควรต้องเข้าใจการทำงานของสารสกัดจากถั่วขาว และรู้ข้อจำกัด ตลอดจนรู้หลักในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากถั่วขาว ดังนี้

1. จุดเด่นของสารสกัดจากถั่วขาว คือ สกัดการย่อยอาหารกลุ่ม ข้าวแป้ง จึงเหมาะกับบุคคลที่พบปัญหาการบริโภคอาหารประเภทข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว มากเกินพอดี ผู้ที่อ้วนเพราะชอบบริโภค ขนมหวาน น้ำตาล หรืออาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน เนื้อสัตว์ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากถั่วขาว

2. ก่อนซื้อควรอ่านฉลากดูปริมาณของสารสกัดจากถั่วขาวที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ควรหวังผลด้านลดน้ำหนัก หากปริมาณที่ได้รับจากการบริโภคต่อวันน้อยกว่า 500 มิลลิกรัม ซึ่งจะเห็นว่าหลายผลิตภัณฑ์โฆษณา ว่ามีสารสกัดจากถั่วขาว แต่ปริมาณมีเพียงเล็กน้อย เช่น กาแฟปรุงสำเร็จต่อให้บริโภคหลายสิบซองต่อวัน นอกจากไม่ได้รับประโยชน์จากสารสกัดจากถั่วขาว ยังเสี่ยงต่อการได้รับกาแฟอีนมากเกินไปอีกด้วย

3. ควรต้องคำนึงถึงช่วงระยะเวลาในการบริโภคด้วย ช่วงที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด ควรบริโภคก่อนอาหารมือหลักพร้อมน้ำ (อาหารนั้นควรอุดมไปด้วยแป้ง) ซึ่งหากคาดคะเนให้สอดคล้องกับระบบการทำงานของร่างกายควรบริโภคก่อนอาหารอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะผ่านจากกระเพาะอาหารใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

4. การกล่าวว่า "หากร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอร่างกายจะดึงไขมันส่วนเกินมาทดแทนใช้เป็นพลังงาน" แม้จะเป็นความจริง แต่ควรต้องคำตึงด้วยว่า แม้จะได้รับพลังงานจากอาหารประเภทแป้งน้อย แต่ถ้ายังบริโภคอาหารอื่นมากเกินที่ร่างกายต้องการการดึงไขมันส่วนเกินมาใช้ย่อมไม่เกิดขึ้น

5. การบริโภคสารสกัดจากถั่วขาวเพื่อสกัดการย่อยแป้ง โดยหวังจะดึงไขมันสะสมออกมาใช้ ควรต้องระวังไม่ให้ได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปด้วยเนื่องจากที่ร่างกายจะเปลี่ยนไขมันสะสมไปเป็นน้ำตาล เพื่อใช้เป็นพลังงานก็ยังต้องใช้คาร์โอไฮเดรตสำหรับการเผาผลาญให้สมบูรณ์เช่นกัน ประกอบกับมีข้อแนะนำให้บริโภคคาร์โบไฮเดรต 45-65% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน โดยมาจากน้ำตาลไม่ควรเกิน 25% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน หากร่างกายได้รับข้าวแป้ง ในปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว หรือได้รับน้อยเกินไป การบริโภคสารสกัดจากถั่วขาวแทนที่จะได้ประโยชน์อาจเกิดผลเสียทำให้ "ลดอ้วนไม่ปลอดภัย" เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ไขมันที่ไม่สมบูรณ์อันเนื่องมากจากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ เป็นอันตรายต่อระบบการทำงานภายในร่างกาย ไตต้องทำงานหนักถ้าเกิดภาวะนี้มากๆ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียหอบเหนื่อย หมดสติ และช็อกได้ในที่สุด

ทั้งนี้ สารสกัดจากถั่วขาว ช่วยลดอ้วนได้ ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม คงบอกได้ยากตราบใดที่ยังมีข้อถกเถียงกัน คงได้แค่ความคาดหวัง หากข้อมูลที่ได้รับชัดเจนว่าช่วยลดความอ้วนได้ การใช้สารสกัดจากถั่วขาวเป็นตัวช่วยหนึ่งในการควบคุมน้ำหนัก ประโยชน์ย่อมเกิดกับบุคคลที่รักษาการบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยข้าว แป้ง เป็นหลัก ช่วยให้ไม่ต้องอดอาหารประเภทนี้มากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามการพึ่งพาโดยซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาบริโภค อาจช่วยได้ในระยะแรก แต่สุดท้ายการลดความอ้วน จะสำเร็จได้อย่างถาวร ไม่กลับมาอ้วนอีก ไม่ใช่อยู่ที่ "เงิน" เป็นปัจจัยหลัก สุดท้ายต้องอาศัยสัจธรรม "ตนเป็นที่พึ่งของตน" หลีกไม่พ้นต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสม โดยอาศัยแรงใจของตนเองเป็นสำคัญ ข้อคิดนี้ผ่านการการันตีรับรองจากผู้ที่เป็นปรมาจารย์ในการลดความอ้วนบอกกล่าวกันไว้ การทำตามข้อแนะนำจากผู้ที่ผ่านการทดลองลดความอ้วนหลากหลายวิธีมาแล้ว ย่อมเป็นทางลัดที่จะช่วยให้ลดอ้วนได้สำเร็จ ยืนนานปลอดภัยมากกว่าการจะไปลองผิดลองถูกด้วยวิธีต่างๆ นอกจากเสียเวลา อาจเสียเงินอย่งไม่คุ้มค่าอีกด้วย

ค้นหาคำตอบ ปลอดภัยบริโภค โทร. สายด่วน อย. 1556
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข





 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล