ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ออฟฟิศซินโดรม โรคที่มักพูดถึงบ่อยสำหรับมนุษย์วัยทำงานของไทย

โดย กมลวรรณ กุลวัตร อริยะ บุญงามชัยรัตน์ ณัฐพัชร์ มรรคา กนิษฐา บุญธรรมเจริญ

1 กรกฎาคม 2565

แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome : OS) จะได้รับการกล่าวถึงจากสื่อของหลายหน่วยงานและได้รับความสนใจหรือรู้จักกันแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยมากมักหมายถึงอาการปวดคอ บ่าไหล่ และหลังส่วนล่างเป็นหลัก แต่ยังไม่มีการระบุคุณลักษณะสำคัญของโรคอย่างชัดเจน รวมทั้งขนาดของโรคหรือกลุ่มอาการดังกล่าวในภาพรวมของประเทศ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) >> ไม่ใช่โรคเดี่ยวๆ แต่เป็นกลุ่มอาการของโรคหลายโรค

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคหลายโรค จัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยพบได้บ่อยในคนวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานสำนักงาน จึงเป็นที่มาของชื่อโรคดังกล่าว ด้วยลักษณะการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมในท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆ ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน (Cumulative Trauma Disorders) หรือระยะเวลาในการทำงานที่มากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่มีการผ่อนคลาย ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาจส่งผลให้มีความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบอื่นๆร่วมด้วย

ทั้งนี้ ลักษณะของงาน ท่าทางการทำงาน (Posture) และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน เป็นสาเหตุหลักของปัญหาหรือเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้โรคนี้ยังคงอยู่ กลับมาเป็นซ้ำได้อีก แม้ไม่พบว่าเป็นสาเหตุการตาย แต่ส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต ผลิตภาพการทำงานและค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น

จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ คำนิยามคุณลักษณะสำคัญของโรค (Case definition) และองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้อง สามารถระบุความจำเพาะของโรคสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมัยโอฟาสเซี่ยล (Myofascial Pain Syndrome: MPS) หรือ Myalgia (M79.1)
  • โรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome: G56.0)
  • ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia: M79.7)

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลการเจ็บป่วยจากคลังข้อมูลสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งครอบคลุมข้อมูลสุขภาพจากการรับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ปี 2562 – 2563 จากสถานบริการสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก โดยนำเสนอความชุก (Prevalence) ของการมารับบริการ จำนวนตามสาเหตุการป่วยรายกลุ่มโรค จำนวนตามสาเหตุภายนอก จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพและเขตบริการสุขภาพ

chart1

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมัยโอฟาสเซี่ยล (Myofascial Pain Syndrome หรือ Myalgia (M79.1))

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมัยโอฟาสเซี่ยล เป็นสาเหตุของปัญหาปวดเรื้อรังที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ มักเกิดร่วมกับภาวะอื่นได้ อาการปวดกล้ามเนื้อจะจำกัดอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่าไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน แต่มีจุดกดเจ็บที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger Point: TrP) ซึ่งจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อแต่ละมัดจะมีลักษณะแบบแผนการปวดร้าวที่เฉพาะตัว ซึ่งจุดกดเจ็บนี้อาจเกิดจากการถูกกระตุ้น หรือแฝงอยู่มาก่อนก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการของระบบประสาทร่วมด้วย เช่น วูบ เย็น เหน็บ หรืออาการซีด ขนลุก หรือเหงื่อออกบริเวณทีมีอาการปวดร้าว ความรุนแรงมีได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยเพียงรำคาญจนถึงปวดรุนแรงทรมานอย่างมาก อาการปวดอาจเกี่ยวข้องกับการปวดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ความเครียด

กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมัยโอฟาสเซี่ยล พบได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดย

  1. แบบเฉียบพลัน มักจะมีประวัติจากการที่กล้ามเนื้อและกระดูกมากเกินขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวแบบฉับพลัน (Sudden Overload) ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาในทันที
  2. แบบเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มปัจจัย ได้แก่
  3. 2.1 ปัจจัยด้านกายภาพ ที่พบบ่อย ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกายภาพในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ที่ใช้ทำงานสูงหรือต่ำจนเกินไปไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของร่างกาย ท่าทางการทำงาน (poor posture) พฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อมัดหรือกลุ่มนั้นอย่างซ้ำๆจนเกินขีดความสามารถของกล้ามเนื้อและกระดูก (Repetitive Microtrauma)
    2.2 ปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะวิตกกังวล/เครียด (anxiety/stress) ท้อแท้/ซึมเศร้า (despair/depress)
    2.3 ปัจจัยด้านระบบของร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะขาดวิตามินบางชนิด ได้แก่ vitamin B1 B6, B12 folic acid และ vitamin C อาการที่พบบ่อย คือ เพลีย ชาปลายมือปลายเท้าเป็นครั้งคราว และภาวะขาดไทรอยด์ (borderline hypothyroid) อาการที่พบบ่อยคือ อ่อนล้า เฉื่อยชา หนาวง่าย ท้องผูก

จากข้อมูลสุขภาพจากการรับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ปี 2562 – 2563 ในสถานบริการสุขภาพสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ความชุก (Prevalence) ของการมารับบริการ จำนวนและอัตราตามสาเหตุการป่วยรายกลุ่มโรค จำนวนและอัตราตามสาเหตุภายนอก จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุ อาชีพและเขตสุขภาพ



ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia (M79.7))

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง โดยอาการปวดมักจะกระจายหลายแห่ง ตามร่างกายโดยเฉพาะที่เป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย บริเวณที่พบว่ามีอาการบ่อยคือ ศีรษะ คอ บ่าและหลัง บางรายปวดทั้งตัว อาการแตกต่างกันไป และความรุนแรงของอาการป่วยอาจไม่คงที่ ซึ่งยังอาจมีอาการร่วมอื่นๆได้หลายอาการ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท สมาธิและความจำถดถอย รวมถึงความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า

สาเหตุหลัก คือ ยังไม่เป็นที่รู้จักดีมากนัก ซึ่งเชื่อกันว่าโรคนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันในการชักนำให้ระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลังอยู่ในสภาวะที่ไวกว่าปกติ (central sensitization) โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความปวด ความคิดและอารมณ์ ด้วยความหลากหลายของอาการร่วมที่มี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงกระจายอยู่กับแพทย์เฉพาะสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับอาการหลักหรืออาการร่วมที่ผู้ป่วยมี โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่

  1. ปัจจัยทางร่างกาย พบว่า ผู้ที่มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตรุนแรง โดยเฉพาะต่อระบบสมองและประสาทไขสันหลัง เช่น อุบัติเหตุขับรถแล้วถูกรถด้านหลังชน ทำให้กระดูกก้านคอกระแทกจนเกิดการกระทบกระเทือนถึงระบบสมองและ/หรือประสาทไขสันหลัง อีกรูปแบบของการบาดเจ็บที่พบบ่อย แต่มักถูกมองข้าม คือ ผู้ที่ตรากตรำงานมาเป็นเวลายาวนาน ร่างกายตกอยู่ในภาวะเครียด มีการสะสมการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อทีละน้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว ถือเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญของการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
  2. ปัจจัยทางจิตใจ พบว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพ สมบูรณ์แบบ ความรับผิดชอบสูง ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เจ้าระเบียบ มีความรอบคอบมากเกินไปจนกลายเป็นหวาดระแวง เมื่อมีปัญหาสุขภาพ นำมาซึ่งความเครียด มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไฟโบรมัยอัลเจียได้ง่ายกว่าประชากรทั่วไปมาก
  3. ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในคนเมืองมีโอกาสเกิดภาวะไฟโบรมัยอัลเจียมากกว่าเมื่อเทียบกับคนชนบท ทั้งนี้ ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองมักจะอยู่ในสภาวะเร่งรีบและแข่งขันทางเศรษฐกิจสังคมสูงกว่า ชั่วโมงทำงานมากขึ้น เวลาพักผ่อนน้อยลง ส่งผลโยงไปถึงปัจจัยทางร่างกายที่จำเป็นต้องทำงานมากกว่าด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยทางจิตใจที่เคร่งเครียดด้วย

อุบัติการณ์ผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจีย ที่มาขอรับบริการที่สถานบริการสุขภาพ (hospital-based) มักพบต่ำกว่าความเป็นจริงในประชากรทั่วไป (community-based) แต่ละคนจะมีแต่ละปัจจัยที่แตกต่างกัน และจะแสดงอาการเมื่อผลรวมในการควบคุมอาการปวดถึงจุดที่ทำให้เกิดภาวะ central sensitization หรือระบบประสาทส่วนกลางอยู่ในภาวะที่มีความไวกว่าปกติ ซึ่งมักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

จากข้อมูลสุขภาพจากการรับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ปี 2562 – 2563 ในสถานบริการสุขภาพสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ความชุก (Prevalence) ของการมารับบริการ จำนวนตามสาเหตุการป่วยรายกลุ่มโรค จำนวนตามสาเหตุภายนอก จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุ อาชีพและเขตบริการสุขภาพ



กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome (G56.0))

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ เกิดจากการกดทับเส้นประสาทมีเดียนในบริเวณข้อมือ เป็นการกดทับเส้นประสาทที่พบอยู่ปลายสุดของรยางค์บน อาการที่พบบ่อย คือ ปวด-ชา มือทางด้านนิ้วโป้งจนถึง นิ้วนาง มักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจแสดงอาการเพียงชั่วคราวในช่วงแรก และกำเริบบ่อยขึ้นหรือมีอาการนานมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดในส่วนสะบักและแขนได้ผู้ป่วยมักมีอาการมากในช่วงตอนกลางคืน หรือในช่วงที่ทำงานหนักซ้ำๆซากๆ ส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่มคนวัยทำงานที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือใช้ข้อมือในการทำงานเป็นประจำ

สาเหตุหลัก เกิดจากการใช้งานข้อมือในท่าเดิมๆนานๆ หรือเกิดร่วมกับภาวะบางอย่างเช่น ตั้งครรภ์วัยทอง เบาหวาน ข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ ได้แก่

  1. ปัจจัยโครงสร้างร่างกาย เมื่อเกิดการหักและการเคลื่อนบริเวณกระดูกข้อมือ รวมถึงโรคข้ออักเสบที่อาจก่อให้เกิดการแปลงรูปของกระดูกข้อมือ สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการกดทับ ที่เส้นประสาทมีเดียน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโพรงเส้นประสาทฝ่ามือ (carpal tunnel) ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมักจะเป็นเพศหญิง อาจจะมีความเสี่ยงที่สูงในการเป็นโรคนี้
  2. ปัจจัยจากลักษณะการทำงาน งานที่จำเป็นต้องใช่้ข้อมือทำงานมากๆ จะส่งผลให้เกิดการกดทับที่เส้นประสาทมีเดียน เช่น การทำงานที่ใช้เครื่องมือหรือการทำงานในสายการผลิต การทำงานรูปแบบนี้อาจทำอันตรายหรือทำให้โพรงเส้นประสาทฝ่ามือถูกทำลายมากขึ้น และอาการจะทรุดลงในสภาพอากาศที่เย็น

จากข้อมูลสุขภาพจากการรับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ปี 2562 – 2563 ในสถานบริการสุขภาพสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ความชุก (Prevalence) ของการมารับบริการ จำนวนตามสาเหตุการป่วยรายกลุ่มโรค จำนวนตามสาเหตุภายนอก จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุ อาชีพและเขตบริการสุขภาพ



นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคหรือกลุ่มอาการที่อาจพบร่วมด้วยได้ ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบที่มีผลต่อบริเวณคอและหลัง (Panniculitis affecting regions of neck and back : M54.0) ปวดหลัง (Dorsalgia, unspecified : M54.9) กล้ามเนื้อฉีกขาด (Muscle Strain: M62.6) กลุ่มอาการปัญหาการนอนหลับ (Insomnia Difficulty Sleep: G47.9) และภาวะเครียด (Stress: F43.9) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มอาการของภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการออฟฟิตซินโดรม มักพบในเพศหญิง ในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี โดยอาชีพที่พบมากที่สุด คือ อาชีพกลุ่มที่ 2 อาชีพพื้นฐานหรืออาชีพที่ใช้ทักษะน้อย ผู้ที่ทำงานเรียบง่ายและเป็นประจำหรือทำซ้ำ ๆ พนักงานบริการ และผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านเกษตรและการประมง



ผลกระทบอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) นอกจากความทุกข์ทรมานจากอาการปวดเป็นสำคัญแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถออกกำลังกาย หรือไม่สามารถทำงานนอกบ้านได้ ผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อาการปวดรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วย ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อค่าใช้จ่ายในการรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนผลกระทบต่อการปฏิบัติงานอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการปฏิบัติงาน (Fit for Work / Return to Work) ซึ่งส่งผลถึงรายได้ของผู้ป่วยที่ต้องลดลง

บทสรุป

สภาพปัญหาภาระโรคออฟฟิตซินโดรมตามบริบทของประเทศไทย ในภาพรวม จากข้อมูลการรับบริการในสถานบริการสุขภาพสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มอาการ/โรคหลักที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการออฟฟิตซินโดรม (Office Syndrome : OS) ได้แก่ โรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome: G56.0) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มอาการ/โรคที่มีความเฉพาะตัวทั้งในส่วนของสาเหตุและตำแหน่งของการเกิดโรค ในขณะที่กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมัยโอฟาสเซี่ยล (Myofascial Pain Syndrome: MPS) หรือ Myalgia (M79.1) ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับ Fibromyalgia (M79.7) ซึ่งเป็นการเจ็บปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทั้ง 2 โรคพบในในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ได้ตั้งแต่วัยทำงานตอนต้น อายุ 15-29 ปี และพบบ่อยมากขึ้นในกลุ่มอายุระหว่าง 30-59 ปี ถึงกลุ่มวัยผู้สูงอายุตอนต้น อายุ 60-69 ปี

ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลการรับบริการสุขภาพ จากคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center: HDC) ที่ครอบคลุมเฉพาะสถานบริการสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ด้วยลักษณะอาการของโรคที่ไม่ได้รุนแรง ความหลากหลายของอาการร่วมที่มี แต่เรื้อรัง จึงกระจายอยู่กับแพทย์เฉพาะสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับอาการหลักหรืออาการร่วมที่ผู้ป่วยมี ซึ่งมักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง อีกทั้งมักเกิดในกลุ่มวัยทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ การเข้ารับการรักษาพยาบาลจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะในสถานบริการสุขภาพของภาครัฐ และสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพ ดังนั้น สำหรับผู้ที่อยู่ในภาคบริการส่วนใหญ่จะใช้สิทธิประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนสำหรับลูกจ้างเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน คลินิกและสถานบริการสุขภาพเอกชนจึงเป็นอีกหนึ่งฐานข้อมูลที่สำคัญ แต่ยังไม่มีระบบในการผนวกข้อมูลในส่วนนี้ รวมทั้ง ยังพบข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์อยู่จำนวนหนึ่ง (missing) เนื่องจากไม่มีการบันทึก หรือบันทึกไม่ครบถ้วน หรือบันทึกผิดและตรวจสอบไม่ได้ นอกจากนี้ แหล่งข้อมูลอื่นที่จะอาจจะเป็นไปได้ ได้แก่ การบริการการแพทย์ทางเลือกในรูปแบบต่างๆ เช่น การนวด การฝังเข็ม กายภาพบำบัด หรือการบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ ที่จะนำมาเปรียบเทียบกำหนดสัดส่วน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

คนกลุ่มวัยทำงาน ถือว่าเป็นผลิตภาพสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุดังกล่าว ที่นับวันจะพบมากขึ้นด้วยวิถีการดำเนินชีวิตและรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป อีกทั้งไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิตที่จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันการเกิดโรค รวมถึงวิธีการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบกิจการ ตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานรวมถึงสาเหตุปัจจัย การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพด้านการยศาสตร์ การจัดสถานที่ สภาพแวดล้อม และท่าทางในการทำงานที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ และการจัดให้มีการตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเหล่านี้ เช่น การทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle strength test) ตลอดจนการจัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกาย การหยุดพักสั้นๆระหว่างทำงาน ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดสุขภาพที่ดีของกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เอกสารอ้างอิง

ประวิตร เจนวรรธนะกุล. คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ. ออฟฟิศซินโดรมโรคประจำยุคไอที(ออนไลน์). 2559 [เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก : https://www.chula.ac.th/cuinside/5383/

ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช, ดวงพร ขัตตินานนท์ และ อัจฉรา สุวรรณนาคินทร์. การศึกษาหาความชุกของโรคไฟโบรมัยอัลเจียในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดเนื้อมัยโอฟาสเชี่ยลเรื้อรัง.เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร[ออนไลน์].2560[เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2563];27 : 71-76. เข้าถึงได้จาก:https://he01.tci-thaijo.org/index.php/aseanjrm/article/view/86863

วรรณวิมล เมฆวิมล กิ่งแก้ว.การศึกษาเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด.วารสารสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.2559. [เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563].เข้าถึงได้จาก: http://journal.ssru.ac.th/index.php/jahs/article/view/260

วรวัฒน์ เอียวสินพานิช. โรคยอดฮิตออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)[online]. [เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563].เข้าถึงได้จาก: http://www.sukumvithospital.com/content.php?id=3495

วันทนา วีระถาวร. กลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี[ออนไลน์]. 2549[เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563].เข้าถึงได้จาก:https://www.rama.mahidol.ac.th/ortho/sites/default/files/public/file/pdf/Myofascial.pdf

สมสกุล ป้อมมงกุฎ. Office Syndrome โรคร้ายของคนทำงานออฟฟิศ(ออนไลน์). 2559[เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://1ab.in/gLi

สมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติกลุ่มอาการปวดเรื้อรังและระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ(ออนไลน์). 2552 [เข้าถึงเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.rcpt.org/index.php/news/2012-09-24-09-26-20.html

Cagnie B. et al,. Effect of Ischemic Compression on Trigger Points in the Neck and Shoulder muscles in Office Workers: A Cohort Study. Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics[online]. 2013[Cited July 21, 2020]; 36(8): 482-488. Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23993756/

Chien-Ting Liu, Dung-Huan Liu, Chii-Jen Chen, You-Wei Wang, Pao-Sheng Wu and Yi-Shiung Horng. Effects of wrist extension on median nerve and flexor tendon excursions in patients with carpal tunnel syndrome: a case control study.BMC Musculoskeletal Disorders.2021.[cited June,25 2021] Avalilable from:https://bmcmusculoskeletdisord.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12891-021-04349-8"

Esther Cubo and Christopher G. Goetz. Myofascial Pain and Trigger Points. Encyclopedia of the Neurological Sciences[online].2003 [May 21, 2020]. Available from:https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B0122268709017548?via%3Dihub

Jan Dommerholt, Li-Wei Chou , Michelle Finnegan, Todd Hooks. A critical overview of the current myofascial pain literature April 2018. Journal of Bodywork & Movement Therapies [online]. 2018[Cited July 5, 2020]. Available from:https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1360859218301529

Juan Andrés López-Barreras, Jesús Everardo Olguín-Tiznado,Jorge Luis García-Alcaraz,Melissa Airem Cazares-Manríquez, Claudia Camargo Wilson, Ricardo Vardasca and Blanca Rosa García-Rivera. A Review of Carpal Tunnel Syndrome and Its Association with Age, Body Mass Index, Cardiovascular Risk Factors, Hand Dominance,and Sex.2020.[cited June,25 2021].Avaliable from:https://www.mdpi.com/2076-3417/10/10/3488

Kuć J, Szarejko KD, Sierpińska T. Evaluation of Orofacial and General Pain Location in Patients With Temporomandibular Joint Disorder-Myofascial Pain With Referral. Front. Neurol. 10:546. doi: 10.3389/fneur.2019.00546 [May 21, 2020]. Available from: https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fneur.2019.00546/full https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31191438/

Mohammad Ghasemi-rad, Emad Nosair, Andrea Vegh, Afshin Mohammadi, Adam Akkad, Emal Lesha,Mohammad Hossein Mohammadi, Doaa Sayed, Ali Davarian, Tooraj Maleki-Miyandoab, Anwarul Hasan. A handy review of carpal tunnel syndrome: From anatomy to diagnosis and treatment. World Journal of Radiology.2014.[Cited June,25 2021].Avaliable from:https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4072815/

Mustafa Aziz YILDIRIM, Kadriye ÖNEŞ and Gökşen GÖKŞENOĞLU. Effectiveness of Ultrasound Therapy on Myofascial Pain Syndrome of the Upper Trapezius: Randomized, Single-Blind,Placebo-Controlled Study. Arch Rheumatol[online]. 2018[Cited July 21, 2020] ;33(4): 418-423. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6409164/

Robert Bennett. Myofascial pain syndromes and their evaluation. Best Practice & Research Clinical Rheumatology[online]. 2007[Cited July 21, 2020]. Available from:https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1521694207000265

Robert Alan Bonakdar. Chapter 62 - Myofascial Pain Syndrome.Integrative Medicine (Third Edition)[online].2012 [May 21, 2020]. Available from:https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9781437717938000467