HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 15/05/2556 ]
เทคนิคแก้ไข...อาการป่วนจากยาเม็ดคุมกำเนิด

 "ยาเม็ดคุมกำเนิด" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2504 ส่วนประเทศไทยนั้นเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2505 จวบจนปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดก็ยังเป็นวิธีได้รับความนิยม ในการนำมาใช้วางแผนครอบครัว ยาเม็ดคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน ซึ่งออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ แม้ว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ค่อนข้างสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็อาจเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ขึ้นได้ หากผู้ใช้ได้ทราบล่วงหน้าถึงสาเหตุ วิธีป้องกันและแก้ไขอาการเหล่านั้นแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ในการช่วยลดอาการข้างเคียง และลดความวิตกกังวลลงได้  โดยมีอาการดังนี้
          อาการคลื่นไส้อาเจียน : สาเหตุ มักเกิดในผู้ที่เริ่มใช้ยาแผงแรกๆ โดยที่ร่างกายยังไม่ชินกับยา เกิดจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูง  ซึ่งการป้องกันและแก้ไขคือ รับประทานยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน ถ้าใช้ยา 2-3 แผงอาการยังไม่หาย ให้เปลี่ยนยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดต่ำ ถ้ามีอาการมากไม่ควรใช้เอสโตรเจนให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แผง 35 เม็ดแทน
          อาการปวดศีรษะ (แบบไมเกรน) : สาเหตุ ฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดโดยเฉพาะเอสโตรไจน อาจทำให้มีการคั่งของน้ำและเกลือ ทำให้เกิดการปวดศีรษะได้ โดยการป้องกันและแก้ไขหลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้ที่เป็นไมเกรน อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เครียด ลองหยุดยา 2 เดือน ถ้าอาการหาย พอรับประทานใหม่แล้วเป็นอีก แสดงว่าเป็นเพราะยาคุม เลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่เอสโตรเจนต่ำๆ หรือใช้ชนิดแผงละ 35 เม็ดแทนหรือหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หากปวดศีรษะมาก มีอาการตาพร่าหรือมีอาการทางระบบประสาท และสมอง ต้องรีบไปพบแพทย์
          หน้าเป็นฝ้า :  สาเหตุ เกิดจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาเม็ด  การป้องกันและแก้ไข ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนต่ำหรือเปลี่ยนเป็นชนิดแผง 35 เม็ดแทน หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดใช้ครีมป้องกันแสงแดดหรือแสงอุลตร้าไวโอเลต
          หน้าเป็นสิว :  สาเหตุเกิดจากยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ของแอนโดรเจนต่ำ ให้รับประทานยาเตตร้าซัยคลิน วันละ 1 เม็ด เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน
          น้ำหนักตัวเพิ่ม  :  สาเหตุ ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการคั่งของน้ำและไขมันใต้ผิวหนัง ฮอร์โมนโปรเจสโตเจนทำให้อยากรับประทานอาหารมากขึ้น การป้องกันและแก้ไข เลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนทั้งสองชนิดในขนาดต่ำลง ถ้าไม่ได้ผล เปลี่ยนเป็นชนิดแผงละ 35 เม็ด ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกิน 5 กก.ให้หยุดใช้ยา
          มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน : สาเหตุ  มาจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนไป มักเกิดกับผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแผงแรกๆอาจเกิดจากการรับประทานยาไม่ถูกวิธี เช่น ไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานยา อาจได้รับยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาต้านเชื้อ ยาแก้ชักยาระงับประสาท ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ การป้องกันและแก้ไขรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวันและไม่ลืม หากรับประทานยาอื่นที่มีผลต่อยาเม็ดคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย หากมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไขที่สาเหตุอาการต่างๆ หรือพิจารณาเปลี่ยนยา
          เลือดประจำเดือนมาน้อย : สาเหตุ รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดนานๆ หรือสตรีที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมออยู่ก่อน การป้องกันและแก้ไขรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนสูงขึ้น
          เลือดประจำเดือนมามาก : สาเหตุ อาจเกิดจากการขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หรือมีเอสโตรเจนมากเกินไป เกิดจากพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน การป้องกันและแก้ไข ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น หรือให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนลดลง แนะนำให้พบแพทย์
          เลือดประจำเดือนไม่มา : สาเหตุ ตั้งครรภ์เพราะลืมรับประทานยา ได้รับยาอื่นที่มีผลต่อยาคุม ได้รับเอสโตรเจนน้อยเกินไปทำให้เยื่อบุมดลูกเจริญไม่เต็มที่ การป้องกันและแก้ไข ให้ตรวจสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าตั้งครรภ์ให้หยุดใช้ยาทันที ถ้าไม่ตั้งครรภ์ให้รับประทานต่อไปอีก 1 แผง ถ้าประจำเดือนไม่มาอีก ให้เปลี่ยนเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนสูงขึ้น นอกจากนี้อาการข้างเคียงต่างๆอย่างอื่นยังอาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดประจำเดือน ปวดขา เส้นเลือดขอด เศร้าหมอง อ่อนเพลีย ความรู้สึกทางเพศลดลง อย่างไรก็ตามยาคุมกำเนิดในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาขึ้นมากและลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้มาก
          สำหรับข้อมูลเบื้องต้น เป็นเพียงแนวทางการดูแลตนเองในเบื้องต้น หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร  เป็นดีที่สุด
          ข้อมูล :  ภ.ญ.พูลสุข จันทร์วัฒนเดชากุล  จากคลินิครัก


pageview  1206051    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved