HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 15/05/2556 ]
ระวัง..เตรียมตัวไข้หวัดนกในจีนสู่การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

 จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก  H7N9 ใน 11 พื้นที่ของประเทศจีนประกอบไปด้วย ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนานเซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย เหอหนานปักกิ่ง ซานตงและไต้หวัน ในขณะนี้ถึงแม้ว่าไวรัสตัวนี้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อ 126 รายและเสียชีวิตแล้ว 24 รายก็ตาม แต่หากดูจากระยะเวลาหลังจากการพบผู้ป่วยคนแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่หนาแน่นในจีน (ประเทศจีนทั้งประเทศมีประชากร 1,300 ล้านคน มากกว่า400 ล้านคนอยู่ในบริเวณที่มีการระบาด)สามารถบ่งชี้ได้ว่าทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างดีเยี่ยม
          โดย พ.ญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ และแพทย์จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ไข้หวัดนกเกิดจากการที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีกมานานแล้ว เกิดการถ่ายทอดเข้ามาสู่คนเช่น การแพร่ระบาดของ H5N1 ในบ้านเราเมื่อ10 ปีที่แล้ว และ H7N9 ที่เพิ่งมีการค้นพบ ตัวเชื้อไข้มีการวิวัฒนาการของมันเรื่อยๆ ไข้หวัดใหญ่จึงเป็นโรคที่ไม่เคยหายไป แม้ว่าข่าวคราวจะเงียบหายไปพักใหญ่ก็ตาม  ซึ่งความน่ากลัวของH7N9 อยู่ที่สัตว์ปีกที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการรุนแรง คราว H5N1 เราสามารถประกาศเตือนได้ว่า ห้ามอยู่ใกล้สัตว์ปีกที่ตายแล้ว แต่เชื้อตัวใหม่นี้ไม่พบว่ามีการเสียชีวิต ในสัตว์ปีกนำมาก่อนนอกจากนี้ จากการศึกษาทางพันธุกรรมยังพบว่าสายพันธุ์ H7N9 น่าจะเข้าสู่เซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ง่ายกว่า H5N1
          "ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัส H7N9 ส่วนใหญ่เป็นคนที่คลุกคลีหรือสัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรงแม้จะมีบางรายที่ไม่ทราบประวัติการสัมผัสชัดเจนและมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจจะติดจากคนในครอบครัวก็ตาม ไข้หวัดนก H7N9 ก็ยังเป็นไข้หวัดนกที่สามารถแพร่มาสู่คนเป็นบางครั้ง เช่นเดียวกับไข้หวัดนก H5N1 ยังไม่ได้กลายเป็นไข้หวัดคนเต็มขั้นแบบ ไข้หวัดใหญ่2009 และยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คนในวงกว้าง"
          สำหรับเชื้อ H7N9 อยู่ในตระกูลเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ดังนั้น อาการเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อก็จะเหมือนกับอาการของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยเมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้ามาประมาณ 3-8 วัน ก็จะเริ่มมีไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศา ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ไอถ้าอาการรุนแรงก็จะเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอกปอดอักเสบ และอาจเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากเพิ่งสัมผัสกับสัตว์ปีกมาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์แล้วเกิดเจ็บป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัด ควรรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติว่ามีการคลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์ปีก รวมทั้งประวัติการเดินทางไปบริเวณที่มีการระบาด
          แพทย์หญิง กล่าวต่อว่า  หากท่านใดต้องเดินทางไปเที่ยวหรือทำธุรกิจที่ประเทศจีนก็ยังทำได้อยู่ เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงบางพื้นที่ เช่นตลาดค้าสัตว์ปีกเป็นๆ แม้ขณะนี้ตลาดนี้จะถูกปิดไปแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าใกล้รวมถึงงดเดินทางไปในบริเวณที่มีสัตว์ปีกด้วย ที่สำคัญควรระวังในเรื่องอาหารที่ทำจากสัตว์ปีกทุกชนิดว่าจะต้องผ่านการทำให้สุกด้วยความร้อนเสียก่อน  รักษาสุขอนามัย โดยล้างมือบ่อยๆทั้งก่อนและหลังทานอาหาร โดยเฉพาะหลังจากเพิ่งสัมผัสกับสัตว์ปีกมา
          "ส่วนโอกาสในการแพร่กระจายมาไทยนั้นเราต้องติดตามข่าวเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งดูแลการติดเชื้อในสัตว์ปีกนั้น มีมาตรการเฝ้าระวังเป็นระยะๆ อยู่แล้ว"
          ทั้งนี้ โรคที่ควรระวังในขณะนี้ คือ โรคไข้หวัดใหญ่คนซึ่งพบเป็นประจำ สำหรับพื้นที่ของประเทศไทยนั้นมีอัตราการพบผู้ป่วยและผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ยังมากกว่าไข้หวัดนก ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามไข้หวัด ทั้งที่จริงๆ แล้วแม้โรคนี้ติดต่อได้ง่ายแค่ไอหรือจามรดกัน สัมผัสเสมหะผู้ป่วย หรือสัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แต่ก็ป้องกันได้ไม่ยาก แค่รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ล้างมือบ่อยๆ และควรฉีดวัคซีนป้องกันกระตุ้นร่างกายให้มีการสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสทุกปี เพราะสายพันธุ์ของไวรัสมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ แค่มันเปลี่ยนหน้าตาไปนิดหน่อย ร่างกายเราก็จำไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับโรคไต และหญิงกำลังตั้งครรภ์หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้


pageview  1206040    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved