HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 12/03/2556 ]
'ไตวายเรื้อรัง'ภัยเงียบรสเค็ม

การบริโภคเกลือ (โซเดียม)ปริมาณมาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานโรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือ (โซเดียม) สูง2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูงมีผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง นอกจากนี้ ยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
          โดยข้อมูลล่าสุด พบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็น 21.4% หรือ 11.5 ล้านคน, โรคไตถึง 17.5%หรือ 7.6 ล้านคน, โรคหัวใจขาดเลือดเป็น1.4% หรือ 0.75 ล้านคน  และโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต)เป็น 1.1% หรือ 0.5 ล้านคน
          ดังนั้น คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อ
          วัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม)แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร  ซึ่งแหล่งอาหารที่พบเกลือ (โซเดียม) สูงได้แก่ เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป
          ทั้งนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็ม เพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำ 2 เท่า หรือ 10.8 กรัม หรือ5,000 มิลลิกรัมต่อวัน การรับประทานอาหารรสเค็มจัดจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้
          สำหรับ"ไตวายเรื้อรัง ภัยเงียบรสเค็ม"นั้น เป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวรทำให้ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดีแต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษาทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต
          "ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2.ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130/80 และระดับน้ำตาลในเลือด 3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีนโดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ  ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์4.เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ"
          ล่าสุด สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการบริโภครสเค็มของคนไทย  ทำให้เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆ  จึงได้เตรียมจัดงาน "สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง" เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ในช่วงระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม  2556  นี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม


pageview  1205168    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved