HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 20/06/2555 ]
อภ.แนะวิธีกินยาเมื่อเป็น "โรคกรดไหลย้อน"ไม่รับประทานอาหารแต่ละมื้อมากเกินไป หรืออิ่มแล้วนอน

พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยว่า โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากภาวะน้ำย่อยในกระเพาะมีฤทธิ์เป็นกรด จะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีการระคายเคืองบริเวณลำคอ หรือว่าแสบยอดอก จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งบางรายอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ร่วมด้วย อาการคล้ายๆกับโรคกระเพาะ ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพ คือ การทำงานของหูรูดอาหารส่วนล่างที่ต่อจากกระเพาะอาหารมีความผิดปกติ มีลักษณะหย่อนลงไปอาจเกิดเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของหูรูดหย่อนไป ส่งผลให้กรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร บางรายอาจเกิดจากระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือบางรายเกิดจากโรคไส้เลื่อน กระบังลมหย่อน ทำให้เกิดภาวะโรคนี้ขึ้นได้
          สำหรับอาการของโรคกรดไหลย้อน ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วจะมีภาวะเรอเปรี้ยว กรดมีลักษณะขม ทำให้ปากหรือคอรู้สึกขมในบางราย บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง หรืออาจมีอาการหอบหืดมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากอาการกรดไหลย้อนได้ หากมีอาการดังกล่าวแต่ไม่มากควรดูแลพฤติกรรมการบริโภค คือ ไม่ให้รับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป ไม่รับประทานอาหารทอด อาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และไม่รับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วนอนเลย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มาก ควรจะเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงจะเข้านอน ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ รักษาระดับน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไปพักผ่อนมากๆ ไม่ให้เครียด หลีกเลี่ยงการรับประทานชา กาแฟ การดื่มสุรา หรือหากมีอาการจุด แสบยอดอก หรือเสียดท้อง เมื่อมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
          ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้กล่าวถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน ว่ายากลุ่มหลักๆ ได้แก่ ยายับยั้งกลุ่มโปรตอนปั๊มหรือโปรตอนปั๊มอีดิเตอร์ ยาที่ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อนได้ดีที่สุดชื่อโอเมทโทรโซน ขนาด 20 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่อาการของโรค รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา6-8 สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลามากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนมากหรือเป็นมานานอาจต้องปรับเวลาในการรับประทานเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับอาการที่มี หรืออาจต้องทานต่อเนื่องมากกว่านั้น
 


pageview  1205916    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved