HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 20/06/2555 ]
เผยคนไทยติดเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นชี้กลุ่มปฏิชีวนะเข้าขั้นวิกฤต เล็งถกหาทางคุมการใช้

     โรงแรมสยามซิตี้ กทม. / พบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้เฉพาะยาฆ่าเชื้อปอดอักเสบ เลือดเป็นพิษพบดื้อ 80% ถึงขั้นวิกฤต สวรส.เล็งถกแนวทางควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่ม ด้าน ศิริราช ศึกษาพบไก่สดแพ็กขายกว่า 56% ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เผย 40% เป็นเชื้อดื้อยา จี้รัฐคุมเข้ม หวั่นประชาชนรับเชื้อ
          ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุลอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)กล่าวภายหลังการประชุม "เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ:ภาวะวิกฤตต่อสุขภาพคนไทย"ว่า ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่มีความจำเป็นและช่วยชีวิตคนได้มาก แต่ด้วยการใช้ที่มากขึ้นและเกินความจำเป็น ขาดการควบคุมที่ถูกต้อง ทำให้ช่วงเวลา10ปีที่ผ่านมาพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น และดื้อต่อยาหลายขนาน โดยพบว่า คนไทยมีอาการติดเชื้อดื้อยากลุ่มนี้ถึง 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า1ล้านวัน และพบว่าเสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย โดยทั้งหมดล้วนมาจากการใช้ยาเกินความจำเป็นสามารถหาซื้อได้ง่ายเห็นได้จากมูลค่าการผลิตและนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง10,000ล้านบาททีเดียว อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเชื้อดื้อยาที่พบบ่อยในคนไทยซึ่งพบได้ทั้งในโรงพยาบาล(รพ.)และนอกรพ.หรือในชุมชนนั้น พบว่าเชื้อดื้อยาที่พบมากในรพ.คือเชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ บอมานีไอหรือเอ บอม (Aci netobacter baumannii) ซึ่งเป็นเชื้อก่อให้เกิดติดเชื้อในกระแสเลือด โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ ซึ่งเดิมทีใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีแนมส์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาด่านสุดท้ายที่ใช้ฆ่าเชื้อดื้อยาแต่ 10ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2543-2554พบว่าเชื้อกลุ่มนี้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีแนมส์ถึงร้อยละ 80 แล้ว
          ศ.นพ.วิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการดื้อคาร์บาพีแนมส์มากขึ้น ทำให้มีเชื้อฝีหนอง หรือสแตฟ ออเรียส (Staph aureus) รวมทั้งเชื้ออีโคไล (E.coli) พบได้ทั้งใน รพ.และในชุมชน โดยเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อในกระแสเลือด มีการดื้อยามากขึ้นเช่นกัน เห็นได้ว่า หากไม่ดำเนินการอะไรจะยิ่งเป็นปัญหายิ่งขึ้น สุดท้ายอาจไม่มียาใช้อีก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลวิชาการ และทำเป็นคำแนะนำในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อให้มีการพิจารณาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ สปสช.อาจเพิ่มเงินจากเหมาจ่ายรายหัวให้กับ รพ.ที่มีการดำเนินการควบคุมการใช้ยาตัวนี้รวมทั้งมีมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่ดี นอกจากนี้ จะมีการหารือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับการเพิ่มเกณฑ์คุณภาพสถานพยาบาล หรือค่า HA โดยให้มีแนวทางการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย คาดว่า ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
          นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสวรส.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีข้อเสนอว่าควรห้ามขายยากลุ่มนี้ในร้านขายยาหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายด้าน เพราะการเข้าถึงยาในรพ.อาจไม่ทั้งหมด ยาบางชนิดก็ยังต้องมีการซื้อหาเอง แต่ปัญหาอยู่ที่การควบคุม โดยอาจต้องพิจารณาว่าควรอนุญาตให้ขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำเต็มเวลาหรือไม่ เรื่องนี้ต้องหารือก่อนเสนอรัฐบาล
          นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สวรส.กล่าวว่า สำหรับแนวทางการป้องกันเชื้อดื้อยามี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ต้องควบคุมการติดเชื้อในคนและในสัตว์ เพราะหากคุมได้ก็จะไม่มีปัญหาต้องทานยาฆ่าเชื้อก็จะไม่ดื้อยา2.ต้องควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะให้ใช้เท่าที่จำเป็น ยิ่งใช้น้อยโอกาสดื้อยาก็จะน้อย เช่น หากเป็นไข้หวัดธรรมดาไม่จำเป็นต้องทานยา พักผ่อนก็จะหายได้เอง 3. ควรควบคุมการดื้อยาในสัตว์ด้วย เนื่องจากหากสัตว์ติดเชื้อ และคนบริโภคเข้าไปย่อมส่งผลให้ติดเชื้อได้ รวมทั้งหากสัตว์ พวกหมู เนื้อไก่ เนื้อวัวมีเชื้อดื้อยาจะกระทบการส่งออกด้วย
          ขณะที่ ผศ.ดร.นพ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาของภาควิชาจุลชีววิทยา ด้วยการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ใกล้เคียงรพ.ศิริราช ในตัวอย่าง 200 แพ็ก โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli)ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป แต่บางตัวก่อโรคได้ อาทิ โรคอุจจาระร่วงและซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า(Salmonella enteritica )ผลการศึกษา พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์ ถึง 56.7% หากแยกเป็นรายเชื้อปนเปื้อนเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล 53% และซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า 18.7% ที่น่าห่วงคือพบเป็นเชื้อดื้อยาถึง 40% ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับเชื้อแบบไม่รู้ตัว รัฐจึงต้องเร่งคุมเข้มมาตรฐานด้วย

 


pageview  1205728    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved