HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
[ วันที่ 11/05/2555 ]
มาบตาพุดวิกฤตซ้ำซากนับวันอุตฯ อยู่ร่วมชุมชนยาก!!

เสียงระเบิดและหมอกควันปกคลุมทั่วท้องฟ้าจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ในเครือบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด (ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมถือหุ้น) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวสำหรับคนทำงานในพื้นที่และชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ
          โดยบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด คือ ผู้ผลิตยางสังเคราะห์บิวทาไดอีน มีกำลังการผลิตปีละ 40,000 ตัน ป้อนอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้า ชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์กีฬาและผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ
          พลันเหตุการณ์สงบลง กระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ข้อมูลกับสาธารณชนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด หยุดกระบวนการผลิตเพื่อเปลี่ยนเกรดการผลิต บริษัทจึงต้องล้างถังที่เก็บสารละลายโทลูอีน ซึ่งเป็นสารในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์
          แต่อุปกรณ์เกิดเสียหาย จึงหยุดการล้างถัง และเรียกทีมซ่อมบำรุงเพื่อตรวจสอบแก้ไข จนเกิดระเบิดและมีเพลิงไหม้ตามมา
          เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายให้กับบริษัททันที 1,700 ล้านบาท
          แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นและประเมินค่าไม่ได้คือ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่เบื้องต้นมีถึง 12 ราย บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งสิ้น 105 ราย
          และยังสร้างความหวาดกลัวเนื่องจากสารโทลูอีนลอยฟุ้งในอากาศ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายแม้จะเป็นวัตถุไวไฟ
          แต่ขณะนั้นระบบเตือนภัยที่ไม่เข้มแข็งและทั่วถึง กนอ. ทำให้ประชาชนรอบพื้นที่ต้องหนีเอาตัวรอด ก่อนจะกลับเข้าพื้นที่หลังจากเหตุการณ์สงบ 1 วัน
          ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมสรุปสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มาจาก 2 กรณี คือ อุบัติเหตุจากการซ่อมบำรุง และการสื่อสารเพื่อเตือนภัยและอพยพ มีความผิดพลาดใช้งานจริงไม่ได้
          นอกจากนี้ วันที่ 6 พฤษภาคม ยังเกิดก๊าซรั่วจากโรงงานของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด)
          โดยก๊าซที่รั่วออกมาเป็นสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ฟุ้งกระจายออกจากโรงงานลอยไปทั่วชุมชน มีกลิ่นฉุน เมื่อพนักงานและชาวบ้านรอบโรงงานในชุมนุมสูดดมเกิดอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย และเป็นลมจำนวนหนึ่ง
          รวมผู้บาดเจ็บกว่า 60 คน
          2เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงเป็นอุบัติเหตุซ้ำซากที่ชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงใจและตรงจุด
          และย้ำถึงกระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. ในฐานะหน่วยงานตรงที่กำกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่หลายร้อยโรงงานว่า เมื่อไหร่จะสร้างความเชื่อใจให้กับชุมชนว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง
          หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ระบบเตือนภัยและแผนอพยพชาวบ้านควรมีประสิทธิภาพกว่านี้หรือไม่
          หากย้อนรอยร้าวระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดจะเห็นว่าเกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี หลังอุตสาหกรรมในพื้นที่เกิดขึ้นไม่นาน
          ทั้งสาเหตุจากโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
          ปัญหาผังเมืองที่รัฐบาลละเลยจนทำให้ชุมชนกับโรงงานอยู่ใกล้กันเกินไปเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
          หรือกระทั่งการต่อต้านของชาวบ้านที่ฝังความคิด "ไม่เอาโรงงาน" จากประสบการณ์ที่พบเจอ
          ขณะที่รัฐบาลแต่ละสมัยที่เข้ามาบริหารกลับไม่เคยนำปัญหามาชำแหละและแก้ที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง ตรงข้ามกลับทำเพียงแค่จัดฉาก ลงพื้นที่เพื่อหวังภาพทางการเมือง สอบถามสารทุกข์สุกดิบจากชาวบ้าน กำกับโรงงานให้ดำเนินการอย่างปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ตามแก้ปัญหาและเยียวยาชาวบ้าน
          กระทั่งปลายปี 2552 รัฐบาล (มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้รับบทเรียนจากความละเลย เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว 76 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด มูลค่าหลายแสนล้านบาท เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 67 วรรคสอง (กฎหมายขณะนั้นยังไม่มีสมบูรณ์ ทั้งจากการตีความโครงการลงทุนที่ส่งผลกระทบรุนแรง การไม่จัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฯลฯ) จากคำสั่งดังกล่าวจึงมีผลให้โครงการลงทุนทั้งหมดหยุดก่อสร้างหรือหยุดเดินเครื่องทันที
          ผลกระทบต่อนักลงทุนสูงถึงหลักแสนล้านบาทครั้งนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางออก เพราะพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดเปรียบเสมือนหัวใจหลักด้านการลงทุนอุตสาหกรรมหนักของประเทศ ประเทศที่พึ่งพารายได้จากภาคการผลิต (ทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา) คิดเป็นรายได้ประมาณ 70% ของรายได้รวมประเทศ
          การแก้ปัญหาเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ต่อเนื่องถึงการกำหนดโครงการลงทุนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรง และโครงการนั้นจะต้องทำรายงานประเมินผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) การจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชั่วคราว และการเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์อิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อรัฐบาลเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนออกกฎหมายของรัฐสภา
          การปฏิบัติไปทีละขั้นทำให้ศาลปกครองตัดสินเมื่อปลายปี 2553 ให้ 76 โครงการลงทุนต่อได้ แต่ก็มีประมาณ 10 โครงการที่ตีความพบว่าอาจจะรุนแรง จึงต้องกลับเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย กิจกรรมการก่อสร้างหรือผลิตจึงหยุดชั่วคราวต่อไป
          ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเยียวยาด้วยการจัดทำแผนพัฒนาสาธารณูปโภค ทั้งโรงพยาบาล การกำจัด มหาวิทยาลัย ประปา โดยจัดสรรงบประมาณราว 1,800 ล้านบาท ลงพื้นที่มาบตาพุด เพื่อหวังแสดงความจริงใจ แก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
          ดูเหมือนเหตุการณ์ข้างต้นที่ต่อเนื่องถึงปัจจุบันจะราบรื่น และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมจะปรองดองกันได้ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ระเบิด หรือสารเคมีรั่วไหลซะก่อน
          มองผิวเผินเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่โทษรัฐบาลไม่ได้ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกลับพบข้อสังเกตที่บ่งบอกการทำงานของรัฐบาลว่า จริงๆ แล้วไม่ต่างกับรัฐบาลชุดก่อนที่ไม่จริงใจแก้ปัญหา
          เพราะผลงานที่รัฐบาลชุดนี้ทำตั้งแต่เข้าบริหารช่วง 3 เดือนแรก คือ การล้มร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่เป็นองค์ประกอบหลักมาตรา 67 วรรคสอง แทนที่จะเสนอรัฐสภาเห็นชอบตามขั้นตอน โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวขึ้นมาใหม่
          เรื่องดังกล่าวสร้างความขุ่นเคือง เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดรัฐบาลจึงล้มกระบวนการสำคัญที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน เอกชน และนักวิชาการ ร่วมผลักดันรวมระยะเวลากว่า 1 ปี
          ขณะเดียวกัน โครงการเสี่ยงรุนแรงที่รัฐบาลอนุมัติก็ถูกต่อต้านจากประชาชน เพราะความไม่ไว้ใจ แม้จะเดินหน้าก่อสร้างหรือเดินเครื่องผลิตได้ แต่ในความเห็นของชาวบ้านโครงการลงทุนนั้นๆ คือสัญลักษณ์แห่งความหวาดระแวงของชาวบ้านที่มีต่อเอกชนและรัฐบาล
          นอกจากนี้ หากตรวจสอบมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นจะพบว่ามีวาระหนึ่งที่ภาคประชาชนนำเสนอและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม คือ แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีฉุกเฉินโรงงานอุตสาหกรรม
          แต่ปัจจุบันรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่เคยนำมติดังกล่าวมาพิจารณา แบ่งงานให้เกิดความชัดเจน และเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม
          จากผลงานข้างต้นบ่งบอกความใส่ใจชาวมาบตาพุดได้ดีที่สุด และเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงความต้องการมากกว่าการลงพื้นที่ แล้วประกาศเยียวยาตามแบบถนัด
          แรกๆ อาจจะดูดี ทำให้ชาวบ้านชื่นชม แต่พอเกิดซ้ำๆ จะส่งผลกระทบให้ชุมชนไม่ไว้ใจนักลงทุน
          ยิ่งทำให้ปัญหาฝังรากลึก...แก้ยากเข้าไปอีก!!


pageview  1206044    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved