HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 28/11/2555 ]
หนุ่มสาวออฟฟิศ "โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง" (Myofascial Pain Syndrome)

อาการปวดตึงบ่า สะบัก ต้นคอ จนบางครั้งอาจทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท และเมื่อตื่นนอนแล้วก็ไม่สดชื่น หรือมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตาตาพร่ามัว ซึ่งพัฒนามาจากอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
          สาเหตุที่สำคัญอันดับแรก คือ การใช้งานมัดกล้ามเนื้อเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องเช่น เกิดจากการนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ  การเล่นกีฬาโดยใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำๆ ทุกวัน เมื่อใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นเวลานานกล้ามเนื้อจะเกร็งตัวสะสมจนเกิดเป็นก้อนเนื้ออักเสบที่เรียกว่า "ทริกเกอร์ พอยท์ " (Trigger Points) ซึ่งเจ้าก้อนเนื้อนี้เองที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
          ปกติถ้าเราทำอะไรแล้วเมื่อยเมื่อได้พักจนหายเมื่อยปัญหาก็จบ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันนานๆ เช่น คนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ กล้ามเนื้อหลังต้องใช้งานอยู่ตลอดเวลา เมื่อกล้ามเนื้อต้องหดเกร็ง8-10 ชั่วโมงทุกวัน และเมื่อกลับบ้านไปพักผ่อน รุ่งเช้ามาก็ต้องนั่งทำงานท่าเดิมอีก กล้ามเนื้อชุดเดิมก็มีการหดเกร็งเข้าไปอีกทำอย่างนี้ไปเป็นปีๆ กล้ามเนื้อมัดเดิมมีปัญหาแน่ จากการที่เราเคยกลับไปนอนพักที่บ้านแล้วหายปวดหายเมื่อย1 ปีผ่านไป นอนแล้วก็ไม่หายปวดเมื่อยเพราะกล้ามเนื้อจากที่เคยยืดหยุ่น มันไม่ยืด มันเกร็งสะสมอยู่อย่างนั้น
          การทำงาน ความเครียด หรือแม้แต่การใช้กล้ามเนื้อนานๆ เช่น การขับรถ ฯลฯล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งการเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมต่างๆ นั้นอาจทำได้ยาก แต่สิ่งที่ท่านผู้อ่านสามารถทำได้ คือ เมื่อทราบแล้วว่าสาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อมาจากการที่คุณใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ นานเกินไป และใช้ไม่ถูกท่า ท่านควร
          1. เลือกท่าที่เหมาะที่สุด เช่น นั่งแล้วสบาย เพื่อจะได้ใช้กล้ามเนื้อได้นานโดยไม่เมื่อย
          2. อย่าใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องกันนานเกินไป ถ้ามีอาชีพที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ เช่น 8.30 น. เริ่มเปิดเครื่องกว่าจะลุกจากที่นั่ง 12.00 น. อย่างนี้ไม่ดี ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เช่น เริ่มทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ 8.30 น. ผ่านไปสักชั่วโมง พอถึง 9.30-10.00 น. ก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปยืดกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง ยืดไหล่ บริหารคอเสียหน่อย เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้ได้นาน
          3. พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนแต่หัวค่ำเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
          4. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ นั่ง ยืน ให้มีการยืดตัวเสมอๆ และออกกำลังกายให้มากขึ้นอย่างน้อยตื่นเช้ามาต้องมีการแกว่งหัวไหล่ทั้ง2 ข้าง ด้านหน้า 20 ครั้ง ด้านหลัง20 ครั้ง เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อรอบๆหัวไหล่และสะบัก ป้องกันการเกิดพังผืด และหัวไหล่ติดยึด รวมถึงเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ทำกายและใจให้รู้สึกผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการนั่งที่ซ้ำๆ ต่อเนื่องหลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ที่นั่งแล้วมีการยุบตัว เช่น โซฟา หรือเบาะรองนั่ง ฯลฯเท่านี้เองก็สามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ให้พ้นหรือบรรเทาจากปัญหาปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์นะคะ
 


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved