HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 27/11/2555 ]
โรคเบาหวาน กับความก้าวหน้าด้านการแพทย์

 โรคเบาหวานมีกี่ชนิด
          โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ประกอบไปด้วย กลุ่มแรกคือ เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน มักเกิดในเด็กและคนที่มีอายุน้อย ต้องรักษา ด้วยยาฉีดอินซูลินไปตลอด กลุ่มที่ 2 คือ เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยทั่วโลก มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และในบางคนก็ไม่แสดงอาการ เบาหวานชนิดนี้ สามารถควบคุมได้ด้วยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม  หากยังควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้องรับประทานยาร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นนานๆ ก็อาจต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเช่นกันกลุ่มที่ 3 เป็นเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น จากพันธุกรรม โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือในผู้ที่ถูกตัดตับอ่อนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ และกลุ่มที่ 4 คือ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นในขณะที่ตั้งครรภ์เท่านั้น และเมื่อคลอดแล้วก็จะหายไป อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากตรวจไม่พบ อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับมารดาและเด็กในครรภ์ นอกจากนี้ มารดาที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในอนาคตยังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงมากอีกด้วย
          การรักษาโรคเบาหวานแต่ละชนิดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
          สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องรักษาด้วยอินซูลิน ซึ่งในปัจจุบันเรายังมีแต่ แบบฉีด และจะต้องฉีดทุกวัน เคยมีการผลิตชนิดรับประทานหรือชนิดพ่นแต่ผลไม่เป็นที่พอใจ ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ถ้ายังเป็นน้อยสามารถใช้การออกกำลังกายและการควบคุมอาหารโดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าเป็นมากขึ้น ก็ต้องใช้ยาด้วย และถ้าเป็นนานๆ ยาชนิดรับประทานใช้ไม่ได้ผล หรือมีโรคแทรกซ้อน ก็ต้องฉีดยาอินซูลินด้วย สำหรับผู้ป่วยที่ตับอ่อนไม่ทำงานหรือถูกตัดตับอ่อนไปแล้ว ก็แน่นอนว่าต้องฉีดอินซูลิน หรือถ้าเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือมีสารต้านอินซูลิน ก็ต้องไปรักษาโรคนั้นๆส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าเป็นไม่มากใช้วิธีการควบคุมอาหารก็เพียงพอ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ต้องฉีดยาอินซูลินด้วย
          ข้อควรปฏิบัติ และข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
          หลักๆ เลย คือ ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งแต่ละคน แต่ละวัย กำหนดไว้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ผู้เป็นโรคเบาหวานจึงควรรับประทานอาหารไม่มากเกินไป ให้ครบทุกหมู่และหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีแป้ง น้ำตาลสูงและอาหารมันๆ เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้ในการย่อยสลายน้ำตาลมีประสิทธิภาพต่ำลง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          โรคเบาหวานป้องกันได้หรือไม่
          โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบมากที่สุด โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยถึง 95% เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ สามารถป้องกันได้ ด้วยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินหรืออ้วน รับประทานอาหารและออกกำลังกายให้พอเหมาะ
          ในปัจจุบัน โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่าความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ยิ่งไปกว่านั้น เบาหวานยังเป็นโรคที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ได้แก่ ที่ ตา ไต หัวใจ สมอง และขาจนถึงปลายเท้า สุขภาพดีกับพรีม่า ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เกียรตินำความรู้เกี่ยวกับโรคมาเผยแพร่
          วิวัฒนาการด้านการรักษาโรคเบาหวานมีความก้าวหน้าอย่างไร และมีปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง
          การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านยาที่ใช้ อุปกรณ์ในการรักษา และความรู้ในการรักษาว่าเราต้องควบคุมอะไรบ้าง ในอดีต เรามียาชนิดรับประทานเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ ยากระตุ้นอินซูลินเพื่อลดน้ำตาล และยาที่ช่วยไม่ให้น้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เรามียาชนิดรับประทานเพิ่มอีกเป็น 4-5 กลุ่ม เช่น ยากระตุ้นอินซูลินชนิดใหม่ ยาที่ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ดีขึ้น และยาที่ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ ส่วนยาฉีดที่แต่เดิมมีแต่อินซูลินที่สกัดจากตับอ่อนหมูหรือวัว ซึ่งผู้ที่ฉีดยาหลายรายมีอาการแพ้ แต่ปัจจุบัน ความก้าวหน้าวิศวกรรมพันธุศาสตร์ทำให้เราผลิตอินซูลินออกมาเหมือนกับของอินซูลินของคนได้ อาการแพ้จึงน้อยลง นอกจากนี้ ในอดีตเรามีแต่อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น กับชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง แต่ในปัจจุบัน เรามีอินซูลินชนิดออกฤทธิ์รวดเร็วและชนิดออกฤทธิ์ยาวนานด้วย อุปกรณ์สำหรับฉีดยา และอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดก็พัฒนาดีขึ้นอย่างมาก
          แนะนำ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และกิจกรรมวันเบาหวานโลก
          สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยตั้งมานาน 47 ปีแล้ว ในสมัยเริ่มแรก เป็นการรวมตัวกันของแพทย์และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่คิดว่าน่าจะมีองค์กรที่ช่วยเหลือผู้เป็น
          โรคเบาหวาน เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการดูแลรักษา ในปัจจุบันการแพทย์พัฒนาขึ้น เราจึงมีการให้ความรู้กับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงผู้ดูแลผู้เป็นโรคเบาหวานด้วย อีกประการหนึ่ง สมาคมมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น และต้องการพัฒนาการจัดการโรคเบาหวานให้อยู่ในมาตรฐานสากล จึงมีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรอื่นๆ เพื่อให้มีการดูแลโรคเบาหวานอย่างเป็นระบบและมีความครอบคลุมมากขึ้น ตลอดจนการร่วมกันจัดทำคู่มือการดูแลโรคเบาหวานด้วย
          นอกจากนี้ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเบาหวานโลก มีการจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคเบาหวาน สมาคมโรคเบาหวานฯ ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเนื่องในวันเบาหวานโลกทุกปี มีการตรวจค้นหาโรคเบาหวานให้ฟรี เพราะการตรวจพบโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น และมีการเชิญชวนให้สถานบริการทางการแพทย์ทั่วประเทศร่วมจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลกด้วย
          ข้อคิดสำหรับผู้อ่านเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
          ถ้ามีบุคคลในครอบครัวของท่านเป็นโรคเบาหวาน คนที่ยังไม่เป็นก็ควรระวังหรือป้องกันไม่ให้เป็น โดยพยายามไม่ให้อ้วนและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สำหรับในคนที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว ต้องควบคุมระดับน้ำตาล รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับไขมันควบคู่ไปด้วย และผู้ที่สูบบุหรี่ ต้องงดสูบบุหรี่เพื่อไม่ให้หลอดเลือดแดงเสื่อมเร็ว อันจะนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนหลายอย่างคือ โรคตา โรคไต โรคหัวใจขาดเลือดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดที่ขาตีบ-อุดตัน และอื่นๆ


pageview  1205714    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved