HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 28/11/2555 ]
"โรคกระดูกพรุน" ภัยเงียบของผู้สูงอายุ

 งานประชุมวิชาการ หัวข้อ "พิชิตกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงวัย" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้  โดยงานนี้ได้รับเกียรติร่วมจัดกับ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  และ มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) ณ ห้องประชุมชั้น 3 ตึกนวมหาราช สภาสังคมสงเคราะห์ฯ เนื่องในวันมหิดล   มีผู้มาร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ที่ต่างยิ้มแย้มและอิ่มเอิบกับความ
          รู้ที่ได้รับจากวิทยากร ที่พอสรุปได้ดังนี้
          โรคกระดูกพรุนเป็นโรคหรือภาวะที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกระดูกของคนเรา  เมื่ออายุเพิ่มขึ้นประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือนในผู้หญิงหรืออาจจะเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ   หรือยารักษาโรคที่รับประทานเช่น โรคไตวาย โรคต่อมพาราธัยรอยด์เป็นพิษ หรือการรับประทานยาสเตียรอยด์  เป็นต้น ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่อเรามีอายุเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาจากโรคกระดูกพรุนคือกระดูกหัก มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงร้อยละ 50 จะมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในชั่วชีวิต
          ตำแหน่งที่กระดูกจะหักจากโรคกระดูกพรุนจะเกิดขึ้นที่กระดูกสันหลัง ข้อสะโพก หรือปลายแขน โดยประมาณร้อยละ 50 จะเกิดขึ้นที่กระดูกสันหลัง  ทำให้กระดูกสันหลังยุบหรือผิดรูปร่างทำให้ผู้ป่วยตัวเตี้ยลงมีหลังค่อมลง  ดังจะเห็นได้ในผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะเกิดกระดูกข้อสะโพกหัก เวลาลื่นล้ม ที่พบบ่อย เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำเอาก้นกระแทกพื้น จะมีกระดูกข้อสะโพกหักได้ เมื่อผู้สูงอายุมีกระดูกข้อสะโพกหักจะช่วยตัวเองไม่ได้ เดินไม่ได้ ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดการติดเชื้อในปอด หรือเป็นแผลกดทับ ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นโรคกระดูกพรุน จึงเป็นโรคที่มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่โรคหรือภาวะกระดูกพรุนนี้ไม่มีอาการ จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อมีกระดูกหักแล้ว หรือตัวเตี้ยลง, หลังค่อมโรคกระดูกพรุนจึงเป็นภัยเงียบของผู้สูงอายุ   ซึ่งจะทราบได้ว่ามีภาวะกระดูกพรุนก็โดยการตรวจวัดมวลกระดูก  ดูว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำกว่ามาตรฐานคนปกติเท่าใด   โดยดูจากการเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของคนปกติ   แต่ถ้าเบี่ยงเบนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า2.5 เท่า (-2.5 SD)  ถือว่ามีภาวะกระดูกพรุน
          การแก้ไขหรือป้องกันภาวะกระดูกพรุน ควรทำทันทีตั้งแต่กระดูกเริ่มบาง โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลากรอบ นมแคลเซียมสูง  ร่วมกับการออกกำลังกายที่มีแรงกระทบกับกระดูก  เช่นการวิ่งเบาๆ  หรือการเดินเร็วๆ  อย่างเพียงพอร่วมกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดดอย่างน้อยวันละ 15 นาที ถ้าสงสัยว่าจะมีภาวะกระดูกพรุนแล้วควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างถูกต้อง การรักษาภาวะกระดูกพรุน เป็นการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายปี ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และมีการติดตามผลการรักษาโดยการพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อปรับยาให้เหมาะสม และติดตามผลข้างเคียงจากยา  ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในระยะยาว
          มูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อ (ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นเนื่องจากพบว่าประชากรโลกมีอายุยืนขึ้น แต่มีอยู่โรงหนึ่งที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรคือโรคข้อและกระดูกซึ่งเป็นมากในผู้สูงอายุ โดยโรคที่พบบ่อยคือ 1. โรคกระดูกพรุน โดยมากแล้วผู้เป็นโรคนี้กว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นก็สายไปเสียแล้ว เพราะเมื่อเป็นแล้วเพียงแค่หกล้มเบาๆ กระดูกก็หักมีผลทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลง2. โรคข้อเสื่อม มักเกิดขึ้นกับสตรีสูงอายุ โดยมากจะเป็นที่บริเวณหัวเข่า ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้เดินเหินไม่สะดวก ถ้าอาการหนักจะถึงขั้นที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้3. โรคปวดหลัง เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน ผู้ที่เป็นโรคนี้เมื่ออาการหนักก็ต้องลางานเพื่อผักผ่อนรักษาตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ4. อุบัติเหตุทางรถยนต์ และอุบัติเหตุจากสงครามในประเทศ ที่ทำให้ผู้ประสบเหตุพิการเสียแขนขา จากปัญหาที่พบบ่อยทั้ง 4 ประการดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งมูลนิธิทศวรรษโรคกระดูกและข้อขึ้นในทั่วโลก โดยมูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรณรงค์ให้รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เพื่อนำมาสู่การคิดหาวิธีในการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ เพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์การสาธารณกุศลภาคเอกชนที่ดำเนินการพัฒนา ส่งเสริม แก้ไขปัญหาสังคมในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และสงเคราะห์ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
          เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) มีผู้สูงอายุไม่ต่ำกว่า 12% ของประชากรทั่วประเทศ และนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้น ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ความสนใจ เอาใจใส่ดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคมไม่ใช่เป็นภาระของสังคม สภาสังคมสงเคราะห์ฯ จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพผู้สูงอายุและสุขอนามัย โดยมี พญ.สุวณี รักธรรม เป็นประธาน ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ขึ้น มีสมาชิกประมาณ 500 คน จัดกิจกรรมร่วมกันทั้งด้านวิชาการ และนันทนาการ สิ่งที่สมาชิกชมรมฯ ให้ความสนใจมากที่สุด คือ เรื่องสุขภาพอนามัย ด้วยการดูแลตนเองในเรื่องการออกกำลังกาย มีโภชนาการที่เหมาะสม การพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำปี และพบแพทย์เพื่อป้องกันและรักษาโรค นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังให้ความสนใจแสวงหาความรู้ ฟังการบรรยายเรื่องโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคกระดูกและข้อเป็นเรื่องที่จัดให้มีการบรรยายทุกปี
 


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved