HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามกีฬา [ วันที่ 16/07/2564 ]
ชงล็อกดาวน์กทม.หยุดไวรัสร้าย

 ปิดทุกกิจการยกเว้นอาหาร.ยา สถิตินิวไฮป่วย 10,082 ดับ 141
          ตัวเลขผู้ติดเชื้อนิวไฮ 10,082 รายใหม่ เสียชีวิตทุบสถิติ 141 ศพ อยู่ระหว่างรักษาตัว 110,565 ราย อาการหนัก 3,454 ราย หายป่วย เพิ่ม 6,327 ราย นายกฯ ห่วงโควิดระบาดวงกว้างเร่งกระจายชุดตรวจ นำผู้ป่วยเข้าระบบรักษา พร้อมขอ ปชช. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งหยุดเชื้อ ตามมาตรการที่เข้มขึ้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดจองลงทะเบียนฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มรอบแรกจำนวน 40,000 ราย สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ศบค. เตรียมเคาะข้อเสนอล็อกดาวน์ กทม. 100% ปิดทุกกิจกรรม สสจ.นนท์จัดฉีดวัคซีนสูตรใหม่ SV+ AZ วันแรกประเดิม 9,000 คน ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน
          ติดเชื้อพุ่งเกินหมื่น, ตาย 141 ศพ
          ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีรายละเอียดดังนี้ ติดเชื้อในประเทศ 9,913 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ ที่ต้องขัง 127 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 42 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 6,327 ราย กลับบ้านแล้ว 278,184 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 110,565 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 63,542 ราย และโรงพยาบาลสนาม 47,023 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 3,454 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 839 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 141 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,240 ศพ (ตั้งแต่ปี 2563)
          ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 363,126 ราย ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 55 ของโลก สำหรับผู้ติดเชื้อ 10,082 รายใหม่ แบ่งเป็นดังนี้ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,443 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,470 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 127 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 42 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายจังหวัด 5 จังหวัด มากที่สุดยังเป็นกรุงเทพมหานคร 2,302 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ชลบุรี และนนทบุรี
          ติดเชื้อทั่วโลก 190,266,584 ราย เสียชีวิต 4,091,477 ราย รักษาหาย 173,477,758 ราย ประเทศที่ติดเชื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,926,982 ราย, อินเดีย 31,063,987 ราย, บราซิล 19,308,109 ราย, รัสเชีย 5,907,999 ราย, ฝรั่งเศส 5,844,249 ราย
          นายกฯห่วงปชช.เร่งแก้ปัญหา
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด
          โดยในที่ประชุมศบค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน ซึ่งมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของกทม. ติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย
          เผยมาตรการ Isolation
          นายอนุชากล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้
          1. ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือมีภาวะโรคเสี่ยง 2. ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกัน ก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน 3. ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ 4. โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้ มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลง จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที
          นายอนุชายังกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเจ้าของสถานที่หรือชุมชน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง
          เป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรรียังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน
          เปิดจองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม"
          จากกรณีที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้สิทธินำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยเฟสแรกเปิดให้หน่วยงานจองสิทธิไปแล้วจำนวน 54 หน่วยงาน จำนวนวัคซีนซิโนฟาร์ม ฉีดไปแล้ว 375,320 คน ล่าสุดในวันพรุ่งนี้ 18 ก.ค. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้ประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้มจำนวน 10 จังหวัด เปิดลงทะเบียนจองรอบแรกดังนี้
          วัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์" สำหรับประชาชน เปิดจองรอบแรก จำนวน 40,000 ราย สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ 1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ์ จองวัคซีนซิโนฟาร์ม ราคา 1,554 บาท (โดสละ 777 บาท) รับวัคซีน 2 โดส และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์บริจาคสมทบครึ่งโดสให้กับผู้ด้อยโอกาสกำหนดการเปิดจองวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 8.00 น. ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่าน 2 ช่องทาง 1) เว็บไซต์ https://sinopharm.cra.ac.th 2) แอปพลิเคชั่น CRA SINOP ทั้งระบบ iOS และ Android *การดาวน์โหลดแอปอยู่ระหว่างรออนุมัติจากระบบ iOS ใน App Store และ Android ใน Play Store
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำนักเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการใช้วัคซีนชิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม โดยระบุว่า ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย/ประเทศไทยในการจัดหา นำเข้าวัคซีนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019
          ในขณะนี้โดยมีโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกันในการกระจายวัดซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย
          ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่มีนโยบายการให้  ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1, และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน รวมถึงยังไม่มีนโยบายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ให้แก่ประชาชน เนื่องจากเป็นวัดชีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยแนะนำให้ฉีดชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มตามที่บริษัทผู้ผลิตได้รับอนุญาตจากองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหาร และยาของประเทศไทยดำเนินการ ทั้งนี้หากไม่เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประกันอาจไม่คุ้มครองการรักษา พยาบาลที่เกิดจากอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน
          ทั้งนี้ยกเว้นเป็นการทำงนวิจัยที่ได้รับการอนุมัติและดำเนินการวิจัยตามมาตรฐานการวิจัยในคนและแนวทาง Good Clinical Practice จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดกรุณากำกับให้การบริหารการฉีดวัคซีนเป็นตามแนวทางเพื่อความ  ปลอดภัยของผู้รับวัคชีนอย่างเคร่งครัดด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง
          ศบค.เสนอล็อกดาวน์กทม.
          จากการประชุม ศปก.ศบค. เพื่อเร่งบริหารสถานการณ์โควิด-19 มีข้อเสนอแนะในที่ประชุม ถึงมาตรการลดการเคลื่อนที่ให้มากขึ้น และมีการเสนอให้ปิดกิจกรรม กิจการทุกอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกเว้นการขนส่งสินค้า อาหาร ยา วัคซีน สื่อสาร และสาธารณูปโภค กรณีสถานประกอบการให้ทำระบบ Seal Route ในการทำงานหรือให้พักในสถานประกอบการ โดยจะต้องมีการขออนุญาตและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          โดยในข้อเสนอแนะนำว่า รัฐควรมีการจัดการที่ชัดเจนทั้งมาตรการตรวจหาเชื้อ รักษา และระบบสนับสนุนให้ดำรงชีพได้ นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการควบคุมงดการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเคร่งครัด เฝ้าระวังการเดินทางข้ามประเทศทางชายแดนและผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด
          การบริหารจัดการระบบทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ (Covid-19 Comprehensive Response Team: CCRT) มาตรการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) มาตรการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) และบริหารจัดการโรงพยาบาล ลดความซ้ำซ้อนและสามารถทำการดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุมจํนวนผู้ติดเชื่อ และกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด ส่วนมาตรการด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 เร่งรัดให้มีการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเน้นยำว่าจะต้อง ฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
          ทางด้านสถานประกอบการ โรงงานจะให้ใช้วิธีการตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigentest kit: ATK) และใช้มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เพื่อควบคุมโรค ส่วนกรณีสถานประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการได้ ให้เน้นการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ให้มากขึ้นเป็น 100%
          ทั้งนี้ในข้อเสนอแนะนำเรื่องการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้ทราบสถานการณ์และมาตรการที่จะดำเนินการ รวมทั้งลดความตระหนก เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชน
          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนและนัดหมายผ่านนนท์พร้อม จำนวน 9,000 คน โดยแบ่งเป็นรอบเช้าเข็ม 2 จำนวน 4,000 คน และรอบบ่ายเข็มแรก จำนวน 5,000 คน โดยนายแพทย์สฤษดิ์เดช เจริญไชย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้มาคอยดูแลความเรียบร้อย
          นายแพทย์สฤษดิ์เดชกล่าวว่า วันนี้เป็นการฉีดตามสูตรใหม่ SV+AZ วันแรก จะมีคนจะได้ฉีด AZ เป็นเข็ม 2 เกือบ 4,000 คน มีการนัดหมายเป็นรอบๆ ช่วงบ่ายเริ่มบ่ายโมงนัดเข็ม 1 เป็น SV อีกประมาณ 5,000 คน ประชาชนมาก่อนนัดตั้งแต่เช้า ถ้าดูตามกระแสในโซเชียลการปรับสูตรก็มีคนไม่ต้องการเยอะ เพราะไม่อยากรับสูตรนี้หรือยังไม่มั่นใจ แต่เมื่อมาดูวันนี้ก็ทำให้เห็นว่าคนต้องการสูตรใหม่ที่ต้านทานเชื้อ delta ได้ดีก็คือซิโนแวคเข็มหนึ่งและแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 และอีก 3-4 สัปดาห์ก็จะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าให้เป็นเข็มที่ 2 ส่วนคนที่มารอจนแน่นลานจอดรถนั้น คนไม่มาตามเวลานัดหมาย อาจจะมีการปรับแผนบ้าง ทั้งนี้คนที่ได้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 เข็ม 2 ก็จะฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนคนที่ได้เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าแน่นอน ยกเว้นคนที่ไม่ต้องฉีดหรือมีประเด็นเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่มีข้อห้าม ซึ่งการปรับสูตรก็เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญยืนยันในการต่อสู้กับเชื้อ delta ซึ่งสามารถป้องกันได้ดีพอกับฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
          นายพิษณุ เขียวแสงส่อง พนักงานเทศบาลเมืองบางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กล่าวว่า วันนี้มาฉีดเข็มที่ 2 โดยได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนเข็มที่หนึ่งที่ฉีดไปได้ฉีดซิโนแวค ก็เห็นด้วยที่ทางกระทรวงสาธารณสุขปรับสูตรทำให้สามารถป้องกันเชื้อ covid-19 ได้ดีขึ้น และนายฐาปกรณ์ แท่นสุวรรณ บ้านพักอาศัยอยู่ที่สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนลงทะเบียนผ่านนนท์พร้อม วันนี้มาฉีดเข็มแรกได้ซิโนแวค ส่วนเข็ม 2 จะได้ astrazeneca ก็ดีจะได้สามารถป้องกันเชื้อได้ดีขึ้น และก็เห็นด้วยที่กระทรวงปรับสูตรการฉีดวัคซีน


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved