HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามกีฬา [ วันที่ 25/03/2564 ]
ป่วยเพิ่ม69ราย กทม.ยังน่าห่วง ให้8แสนวัคซีน ไปทั่ว22จังหวัด

ยอดโควิด-19 ประจำวันที่ 24 มี.ค. 64 มีทั้งสิ้น 69 ราย ยอดผู้ป่วยรายใหม่ยังน่าห่วง กทม.เป็นจังหวัดติดเชื้อมากสุด ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,346 ราย หายป่วยแล้ว 26,873 ราย เสียชีวิตสะสม 92 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ด้านคลัสเตอร์ โรงงานทำขนม บางขุนเทียนติดแล้ว 17 ราย พบคนเข้าออกตลอดเวลา โรงงานหละหลวมมาตรการป้องกันโรค และบ้านพักอาศัยรวมกันกว่า 70 คนขณะที่ "บิ๊กป้อม" ดอดเงียบฉีดวัคซีนโควิด-19 เผยไม่ได้ปิดข่าว เพราะให้แพทย์ประจำตัวที่โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ฉีดให้ ยันปลอดภัยดี ไม่เห็นจะเป็นอะไร กรุงเทพมหานครพบผู้ป่วยติดเชื้อ "โควิด-19" ราย ใหม่ยอดพุ่ง 352 ราย ประกอบด้วยการค้นหาเชิงรุก 330 ราย และอยู่ในโรงพยาบาล 22 ราย ขณะที่"อนุทิน" ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมโรงพยาบาล  สนาม ตม.บางเขน ย้ามั่นใจมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันเชื้อหลุดสู่ชุมชน ยืนยันแผนกระจายวัคซีน โควิด-19 เป็นไปตามเป้า ส่วนวัคซีนจอห์นสันฯ ลุ้นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทย กับอย. คาดรู้ผล 25 มี.ค. นี้
          ไทยป่วยโควิด 69 ราย
          เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 ศูนย์ข้อมูลCOVID-19 เผยแพร่ข้อมูลผู้ติดเชื้อประจำวัน โดย วันนี้มีผู้ป่วยใหม่ 69 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,346 ราย หายป่วยแล้ว 26,873 ราย เสียชีวิตสะสม 92 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม
          สำหรับรายละเอียดผู้ป่วยใหม่ 69 ราย แยกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 44 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 17 ราย มา จากต่างประเทศ 8 ราย โดยกทม.เป็นจังหวัดที่มียอดผู้ป่วยใหม่มากสุด 43 ราย
          ด้านผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย บรูไน 1 ราย สวีเดน 1 ราย บาห์เรน 1 รายญี่ปุ่น 1 ราย เมียนมา 1 ราย เป็นคนไทย 7 ราย สัญชาติอินเดีย 1 ราย ผ่านการคัดกรองและเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ State Quarantine, Alternative State Quarantine,Local Quarantine
          รง.บางขุนเทียนติต 17 ราย
          เมื่อวันที่ 24 มี.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อนในโรงงานทำขนม เขตบางขุนเทียน กทม. ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อแล้ว 17 ราย เป็นชาย 3 ราย หญิง 14 ราย ชาวไทย 3 ราย พม่า 14 ราย กรมควบคุมโรคลงไปสอบสวนโรคและกักกันผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 2 เม.ย. ตามมาตรฐานการป้องกันโรค
          ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามมาตรการของกระทรวงแรงงาน หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ทีมสอบสวนโรคจึงลงพื้นที่ไปคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกในที่ทำงานและที่พัก จึงพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน
          “สิ่งที่น่าสนใจที่ต้องเรียนรู้ พบว่า ลักษณะโรงงานขนม ส่วนแรกเป็นหน้าร้าน ซึ่งมีคนเข้าออกตลอดเวลา ส่วนที่ 2 เป็นโรงงานที่แบ่งเป็นแผนก ดำเนินมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานแต่ไม่ครบถ้วน คือ ทำบ้าง แต่อาจมีการหละหลวม และส่วนที่ 3 บ้านพักคนงานที่อาศัยรวมกันในอาคารพาณิชย์แห่งนี้กว่า 70 ราย และมีการแบ่งเป็นห้องเช่า โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค ดังนั้น หากมีผู้ติดเชื้อก็สามารถแพร่ไปหาคนอื่นได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอและขอให้ผู้ประกอบการได้ทบทวนสถานประกอบการของตัวเอง” พญ.อภิสมัยกล่าว
          วัคซีน8แสนโดสกระจาย 22 จว.
          พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนการกระจายวัคซีนโควิด 19 จำนวน 8 แสนโดส กระจายไปใน 22 จังหวัด โดยกระจายตามเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรคใน 6 จังหวัด จำนวน 3 แสนโดส ได้แก่ สมุทรสาคร 1 แสนโดส กทม. 5 หมื่นโดส อ.แม่สอด จ.ตาก 7.5 หมื่นโดส ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี จังหวัดละ 2.5 หมื่นโดส ส่วนเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัดท่องเที่ยว 2.4 แสนโดส ได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี ระยอง และเชียงใหม่ จังหวัด 2 หมื่นโดส ขอนแก่น กระบี่ พังงา จังหวัดละ 1 หมื่นโดส อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 5 หมื่นโดส และภูเก็ต 1 แสนโดส สำหรับเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน 8 จังหวัด จำนวน 5 หมื่นโดส ได้แก่ สงขลา 1 หมื่นโดส สระแก้ว 1 หมื่นโดส และเชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย จันทบุรี จังหวัดละ 5,000 โดส
          ฉีดแล้วแต่ยังต้องยกการ์ด
          พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า 300 ล้านโดส บางประเทศมีประชากรได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว แต่จะพบว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกไม่ได้ลดลงเท่าไร ซึ่งกรมควบคุมโรคตั้งข้อสันนิษฐานว่า ต่างประเทศผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ในบางประเทศไม่จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อเกิดการติดเชื้อมากขึ้นจึงเริ่มกำหนดมาตรการ เช่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสิ่งสำคัญคือ ประชาชนในบางประเทศเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข หรือระบบที่มีอยู่ไม่พร้อมรองรับการระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายทั่วโลก
          “บ้านเรามีระบบสาธารณสุขสำคัญ เช่น อสม. ที่เดินถึงบ้าน กรมควบคุมโรคทำงานเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นหากเราเรียนรู้จากประเทศต่างๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องกลับมาตอบคำถามด้วยตัวท่านเองว่า การฉีดแล้วเราจะดำเนินชีวิตแบบนิวนอร์มอล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่สัมผัสผู้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำมาเสมอ และต้องฝากไปยังสถานประกอบการ นายจ้าง แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข หมอฟัน เภสัชกร เนื่องจากมีการรายงานชัดเจนว่า การที่บุคลากรเหล่านี้ให้ความสำคัญ เตือนประชาชนเรื่องการป้องกันตัว ก็จะทำให้ประชาชน เกิดความตระหนัก และการย้ำเตือนบ่อยๆ ก็จะไม่เผลอ ไม่ลืม การเรียนรู้จากต่างประเทศ เราก็จะไม่ซ้ำรอยของเขา” พญ.อภิสมัย กล่าว
          เมื่อถามถึงเหตุผลการต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า หลายครั้ง สบค. ย้ำเสมอว่า เราอยากเห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่สิ่งสำคัญคือ หลักฐานวิทยาศาสตร์ ข้อมูลที่มีการนำมาประชุมร่วมกัน เมื่อมีการระบาดในกลุ่มก้อน มีสะเก็ดไฟแพร่กระจาย ทำให้ศบค. มีความเป็นห่วงประชาชน และบุคลากรด้านหน้า โดย พรก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือ ทำให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
          “ตัวอย่างของสมุทรสาคร ที่ต้องตรวจหาเชื้อในโรงงาน พื้นที่ชุมชน หากเราไม่มีการบังคับใช้มาตรการ อาจไม่เกิดความร่วมมือจากประชาชนมากขนาดนี้ ดังนั้น ต้องเรียนว่า ศบค. ไม่ได้ออกมาตรการจากศบค. เอง แต่เกิดจากการนำเสนอจากบุคลากรผู้ทำงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด ว่า ขอให้คงมาตรการ ยังมีพรก.ฉุกเฉิน เพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าว
          "บิ๊กป้อม"ซุ่มเงียบฉีดวัคซีน
          พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปฉีดวัคซีน เอสตราเซเนกา จากแพทย์ประจำตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้ว และหลังจากการฉีดวัคซีนอาการทุกอย่างปลอดภัยดี ไม่มีปัญหาอะไร
          “ไม่ได้ปิดข่าวเลยไปฉีดมาแล้วเมื่อวันอาทิตย์ ไม่เห็นจะเป็นอะไร หมอที่ดูแลอาการฉีดให้ เพราะเป็นทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ”
          อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรีฉีดวัคซีนก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ร่วมฉีดวัคซีนด้วย โดยคาดว่ามาจากอายุที่มากและมีโรคประจำตัวหลายโรค เพราะปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร มีอายุ 75 ปีแล้ว
          ยอดโควิดกทม.พุ่ง352
          แฟนเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ โพสต์อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ข้อมูลล่าสุด ณ วันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 20.00 น. โดยระบุข้อความว่า ผู้ป่วยรายใหม่ในกรุงเทพมหานคร 352 ราย
          ทั้งนี้ ประกอบด้วยการค้นหาเชิงรุก 330 ราย พบเป็นคนไทย 10 ราย ชาวต่างด้าว 320 รายและอยู่ในโรงพยาบาล 22 ราย พบเป็นคนไทย 10 ราย ชาวต่างด้าว 12 ราย โดยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,849 ราย
          รพ.สนามตม.บางเขนพร้อม
          เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมความพร้อมและมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนาม ตม.บางเขน หลังสโมสรตำรวจ กรุงเทพฯ โดยนายอนุทิน กล่าวในเวลาต่อมาว่า การใช้โรงพยาบาลสนามควบคุมโรคเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและใช้โดยทั่วไป ผู้เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นคนบุคคลต่างด้าวในวัยหนุ่มสาวป่วยโควิด-19 ไม่แสดงอาการจะต้องรักษาจนหายตามวิธีกำหนดไว้ แต่หากแสดงอาการต้องส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลในเครือข่ายสถาบันกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลในเครือข่ายของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น การรักษาทำเต็มที่ตามความเหมาะสม เมื่อผู้ป่วยหายป่วยแล้วต้องผลักดันกลับประเทศ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว ต้องประสานประเทศปลายทางให้มารับคนของตนเองกลับ ทางการไทยจะไม่นำใครไปทิ้งขว้าง
          ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ละครั้ง มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมาก โดยต้องพิจารณาหลายปัจจัย ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชนภายนอก ขอให้ประชาชนมั่นใจมาตรการ และความสามารถในการจัดการปัญ
          นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ได้จัดสรรวัคซีนโควิด-19 แก่ตำรวจพี่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่
          สำหรับแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 นั้น ยังเป็นไปตามเป้าหมาย เดือนมิ.ย.นี้ จะมีการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนจำนวน 5 ล้านโดส หลังจากนั้น จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านโดสต่อเดือน ขอย้ำว่าประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 เพียงพอต่อความต้องการ
          วัคซีนจอห์นสันฯลุ้นขึ้นทะเบียน
          เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการอนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 นั้น ล่าสุด วัคซีนโควิด-19 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซน ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผลเป็นอย่างไร แต่คาดว่าในวันที่ 25 มีนาคมนี้ จะรู้ว่าว่าออกหัวหรือออกก้อย
          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้อะดิโนไวรัส ของวัคซีนจอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน หากคนมีภูมิคุ้มกันดั้งเดิมต่อตัวอะดิโนไวรัส อาจจะทำให้วัคซีนได้ผลไม่ดีนัก นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญจาก อย. กำลังหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากผู้ผลิตวัคซีน คาดว่าหลังวันที่ 25 มีนาคมนี้ จะมีข้อสรุปออกมาว่า จะสามารถนำมาใช้กับคนไทยอย่างไร
          “ถูกแล้วที่ทางสถาบันวัคซีนฯ เขาบอกมา เพราะหากคนไทยเคยมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวนั้น เมื่อวัคซีนเข้าไปก็จะเหมือนทหารที่ไม่มีแรง” นพ.ไพศาล กล่าว
          เมื่อถามว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนยื่นขออนุญาตนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมแล้วหรือยัง นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตามที่เคยแจ้งว่า ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ามีมาก แต่คนที่จะนำเข้าวัคซีนมาได้จะต้องเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าและมาขึ้นทะเบียนวัคซีนที่จะนำเข้ามา ซึ่งขณะนี้ยังมีเพียง 2 บริษัท ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว คือ แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค ขณะเดียวกัน จอห์นสันฯ นำเข้าโดย บริษัท แจนเซน กำลังรอผล
          “ส่วนบริษัทบารัต ไบโอเทค ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารมาแล้วแต่ยังไม่ครบ เราก็ได้ทวงไปแล้ว นอกจากนี้ วัคซีนสปุตนิกวี ประเทศรัสเซีย และ วัคซีนโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ก็มาคุยไว้แต่ยังไม่ยื่นเอกสารมา การขออนุญาตจะต้องผ่านความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ การหารือร่วมกันชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ” นพ.ไพศาล กล่าว
          ทั่วโลกป่วย 124.9 ล้านคน
          เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่ว โลก ประจำวันที่ 24 มี.ค. 64 โดย ณ เวลา 19.00 น. (เวลาไทย) ระบุ ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 124,926,109 คน เสียชีวิตแล้ว 2,748,727 คน และ รักษาหายแล้ว 100,925,360 คน
          สหรัฐอเมริกายังมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากสุดในโลก ที่จำนวน 30,636,534 คน ตาม ด้วยบราซิล 12,136,615 คน, อินเดีย 11,734,058 คน,รัสเซีย 4,483,471 คน และฝรั่งเศส 4,313,073 คน


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved