HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 24/02/2555 ]
ได้เวลา 'เนื้อปักเป้า' เสรี?!? 'ปลาอันตราย' เปิบแปลกแลกด้วยชีวิต
          เรื่อง : ทีมข่าว CLICK ภาพ : พลภัทร วรรณดี
          เรื่องของอาหารการกิน ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของมนุษย์ทุกคน ซึ่งอาหารที่มนุษย์สามารถกินได้นั้นก็มีให้เลือกอยู่มากมาย แต่กระนั้นก็มีคนบางพวกที่นิยมการเปิบพิสดารเป็นชีวิตจิตใจ เรียกว่าถ้าอะไรอร่อยก็ขอลองไว้ก่อน
          ดูอย่างปลาปักเป้าก็ได้ แม้ว่ามันจะมีพิษร้ายแรงถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยพร้อมที่จะเสี่ยง
          สำหรับในบ้านเรานั้นแม้จะมีปลาปักเป้าติดอวนของชาวประมงที่ออกไปจับปลาในทะเลเป็นจำนวนมาก จากตัวเลขสถิติตกวันละ 100-150 ตัน แต่กระนั้นมันก็ไม่สามารถนำเอามาทำประโยชน์ได้ เพราะการขายปลาปักเป้าเพื่อเป็นอาหารในประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าน่าจะมีการแก้กฎหมาย  ตัวนี้ เพราะมันจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงเพิ่มอีกทาง!!
          ส่วนเรื่องของพิษนั้นทาง      นพ.สุรวิทย์ก็ออกมาบอกว่าไม่น่าห่วง เพราะตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจหาสารพิษในปลาปักเป้าเป็นผลสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นชุดตรวจสอบที่ใช้ง่าย รู้ผลเร็วและราคาถูก
          แต่ก็ยังน่ากังขาว่าไอ้ชุดทดสอบนี่มันจะมีใครเอาไปใช้ตรวจปลาก่อนขายหรือเปล่าก็ไม่รู้?
          ปลาอันตรายที่ปะปนขายอยู่ในตลาด
          ก่อนอื่นลองไปทำความรู้จักกับเจ้าปลาอันตรายชนิดนี้กันก่อนว่า ทำไมมันถึงอันตรายและจะก่อให้เกิดอาการอะไรบ้างถ้าหากบริโภคเข้าไป
          "ปลาปักเป้าจะมีอยู่ 2 ประเภท คือปลาน้ำจืด กับปลาน้ำเค็ม ซึ่งปลาปักเป้า     น้ำเค็มจะมีพิษที่ชื่อ เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) อยู่ ถ้าปลาปักเป้าน้ำจืดนี่จะเป็นพิษอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งพิษทั้งสองชนิดจะออกฤทธิ์คล้ายๆ กัน"
          ปรเรศวร์ อินทุเศรษฐ นักวิชาการผลิตภัณฑ์อาหาร กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เล่าให้ฟังถึงพิษของปลาปักเป้าและอันตรายของมันอีกว่า
          "ถ้ารับประทานปลาปักเป้าที่มีพิษเข้าไปประมาณ 20 นาที ก็จะเกิดอาการชา  ตามลิ้น ตามริมฝีปาก หรือว่าตามแขนตามขา การเดินก็เริ่มจะเดินลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก ถ้าได้รับปริมาณพิษสูงๆ อาจจะถึงกับเสียชีวิตได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง และปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาด้วย"
          ปรเรศวร์กล่าวต่อไปว่า ถ้าเกิดได้รับพิษเข้าไป ส่วนมากหมอจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น และการที่เราจะได้รับพิษปลาปักเป้านั้น คือการบริโภคเข้าไปโดยตรง ส่วนทางการสัมผัสนั้นอาจจะรู้สึกแค่ปวดแสบปวดร้อน แต่กระนั้นการนำมาทำให้กินเป็นอาหารได้ก็มีวิธีการของมันอยู่ แต่ก็ต้องทำโดยคนแล่ปลาที่เชี่ยวชาญ เพราะถึงแม้ว่าจะเอาเนื้อปลาไปผ่านการปรุงโดยใช้ความร้อนแล้ว เจ้าพิษที่ว่าก็จะยังคงมีอยู่ไม่ต่างจากตอนดิบๆ เลย
          ซึ่งในทุกวันนี้ตามตลาดก็มีเนื้อปลาปักเป้าปะปนอยู่จำนวนหนึ่ง โดยคนขายที่ไร้จรรยาบรรณจะหลอกผู้ซื้อว่า เนื้อปลาที่เห็นเป็นปลาอกไก่ไม่ใช่ปลาปักเป้า หรือไม่ก็จะนำเอาไปผสมกับปลาอื่นๆ เพื่อทำลูกชิ้นปลา แน่นอนว่าทั้งหมดมันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่อีกไม่นานถ้ามีการแก้ไขกฎหมาย ปลาเหล่านี้อาจจะถูกนำมาขายอย่างถูกต้องและมีการตรวจสอบในเรื่องของสารพิษที่เกิดจากการทำปลาที่ผิดวิธีการ
          'พลิกวิกฤตเป็นโอกาส' หรือ 'โอกาสจะกลายเป็นวิกฤต'
          การจะเอาปลาปักเป้ามาขายแบบถูกต้อง ปัจจุบันก็ยังคงมีอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของคนซื้อ ไล่ไปถึงกระบวนการที่จะทำปลาให้ปลอดภัยก่อนขายจริงๆ
          ในประเด็นนี้ สุริยัน ศรีอำไพ อุปนายกสมาคมพ่อครัวไทย ได้แสดงทัศนะไว้ว่า สามารถทำได้ แต่จะต้องสร้างกระแสความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเสียก่อนว่ากินแล้วปลอดภัย มีแหล่งผลิตแหล่งที่มาชัดเจน และรู้ว่าบริโภคอย่างไรถึงจะเรียกว่าถูกต้อง เพราะตอนนี้ทุกคนยังมองปลาปักเป้าเป็น 'ปลาอันตราย' ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เช่น ร้านไหนบ้างที่มีสิทธิ์ขายเนื้อปลาปักเป้า เช่นเดียวกับการพัฒนาฝีมือของคนทำปลาและพ่อครัวด้วย เพราะเกือบทั้งหมดไม่รู้หรอกว่าจะทำเนื้อปลาปักเป้าอย่างไรให้ปลอดภัย เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองไทยไม่มีใครกินปลาปักเป้ากัน
          "ถ้าไม่ใช่เชฟญี่ปุ่นเขาไม่รู้หรอกว่าทำยังไง ของแบบนี้ต้องใช้เชฟเฉพาะทาง ต้องรู้วิธีทำ และวิธีเก็บรักษา คือปกติเชฟเขาจะมีตำราอยู่แล้วสำหรับทำเนื้อปลาเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ถามว่าตอนนี้ตามโรงแรมทั่วไปเขาไม่ค่อยนำเนื้อปลาปักเป้าไปกินกันหรอก ยกเว้นจะรู้ข้อมูลว่ามันมีประโยชน์อย่างไร มีโปรตีนมากกว่าเนื้อปลาชนิดอื่นหรือเปล่า คือถ้ามีข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้บริโภคก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้เขา
          "ดังนั้น หากต้องการนำมาทำกินในเมืองไทยจริงๆ ต้องทำกระแสให้แรงมากๆ ไม่อย่างนั้นมันก็ยาก แล้วต้องสร้างสรรค์เมนูที่เหมาะสม มีห้องอาหารที่ได้รับการรับรองว่าเนื้อปลามีที่มาที่ไป เพราะเนื้อปลากินได้ทั้งนั้นแหละ แต่สำคัญอยู่ที่ว่า ตอนแรกที่นำเข้ามาเสนอสื่อหรือคนที่มาสามารถให้รายละเอียดกับเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ มันอยู่ที่คุณมีเงินหรือเปล่า เพราะถ้ามีคุณก็เข้าถึงได้หมด ทั้งสถาบันด้านอาหารที่กล้าเข้ามาเสี่ยง เพราะคนที่ฝึกเรื่องพวกนี้มันมีอยู่แล้ว หรือแม้แต่ช่องทางการตลาดก็ตาม"
          แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าทำไม่ได้ทั้งหมดที่กล่าวก็อาจจบเห่ เพราะถ้ามีใครสักคนได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้าเข้าไปสักคน คนอื่นๆ ในสังคมก็คงไม่กล้าเสี่ยง และสำหรับบ้านเรา ดูๆ ไปแล้วมันก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงเสียด้วยที่จะเกิดความผิดพลาดจากการผลิต
          และถ้าพลาดมันก็หมายถึงอันตรายถึงชีวิต
          น่าจะได้ไม่คุ้มเสีย
          แม้ว่าถ้ามีการตรวจสอบและทำการผลิตให้ถูกต้อง ปลาปักเป้ามันก็ไม่ใช่สิ่งที่อันตราย แต่ในมุมมองของ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วาณิชบุตร มือปราบปลาปักเป้า ที่ทำงานด้านปราบปรามการขายปลาปักเป้าเพื่อบริโภคมาโดยตลอดกลับบอกว่าไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์
          "กฎหมายเขาบัญญัติไว้เลยว่า ผู้ใดนำเข้า ผลิต จำหน่ายปลาปักเป้าหรือส่วนผสมของเนื้อปลาปักเป้า ผู้นั้นมีความผิด เพราะบางทีเขาเอามาทำลูกชิ้นมาแปรรูป จริงๆ แล้วถ้าทำดีๆ มันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่มันพลาดได้ไง คือปลาพวกนี้มันจับง่ายเพราะมันไม่ต้องออกไปจับที่น้ำลึก แค่ออกไป 40-50 ไมล์ทะเลก็เจอแล้ว สมัยก่อนพอติดอวนมาก็จับโยนทิ้งกันไป ทีนี้ปัจจุบันคนเรามันจะหาเงินโดยไม่คำนึงถึงผลร้าย เรียกว่าถ้าได้เงินก็เอาทั้งนั้น"
          พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายให้ขายปลาปักเป้าได้แน่นอน เพราะคนที่เป็นกุ๊กต้องผ่านการเรียนการอบรมมีความรู้มีประกาศนียบัตรมา แต่สำหรับประเทศไทยนั้นโดยพื้นฐานแล้วมันไม่น่าจะควบคุมได้
          "เชื่อเถอะว่า คนแล่ในโรงงานแล่ปลาร้อยละ 99 เป็นต่างด้าวทั้งนั้น เป็นพม่า กัมพูชา เขาแล่ไปก็คุยไปไม่ได้สนใจหรอก เพราะเขาไม่ได้แล่กินเองนี่ ถ้าเกิดมาแล่ปลาปักเป้าก็มีโอกาสพลาดได้ คือพิษของปลาปักเป้า 1 มิลลิกรัมมีความรุนแรงเท่าไซยาไนซ์ 2,000 มิลลิกรัมเลยนะ มันร้ายแรงมาก มันไม่คุ้มกันหรอก เพราะพลาดกันมาคนกินก็ตาย ใครจะรับผิดชอบ
          บ้านเรามันมีนิสัยมักง่าย ไม่เหมือนกับประเทศที่เขามีวินัย จะแก้กฎหมายให้สิ่งมีพิษเหล่านี้ออกขายได้มันง่าย แต่ถ้าพลาดใครจะรับผิดชอบ มันหมายถึงชีวิตคนนะ ของกินมีเยอะแยะทำไมไม่ไปกินกัน ที่ผ่านมาคนที่ตายจากปลาปักเป้านั้นมีมาก คือคนธรรมดาเวลาตายนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องตามหมอพรทิพย์มาชันสูตรนี่ ตายแล้วก็ตายไป อย่างเมื่อก่อนที่ว่ามีการไหลตายกันนั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการกินปลาปักเป้านั่นแหละ"
          ส่วนในมุมมองของคนที่ขายปลามาทั้งชีวิตอย่าง นพวรรณ ประยูรวงศ์ เจ้าของแพปลานพวรรณ ก็ให้ความเห็นว่า
          "จริงๆ มันมีมานานแล้ว ที่อื่นเขาแอบขายกันอยู่ มันคล้ายกับแมงดานะที่เวลาจะกินก็ต้องให้คนทำเป็นทำ แต่แมงดานี่พิษมันไม่ร้ายเท่า คือที่แพของเรานี่ไม่ยุ่งเลย แต่ได้ข่าวว่าที่มหาชัยเขามีกัน คือมันไม่คุ้มกันหรอก ราคามันไม่แพงเท่าไหร่ ไม่ได้รับความนิยมด้วย คนซื้อเราไปแล้วเกิดอะไรขึ้นมามันก็ได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าเขาให้ขายได้เราก็ไม่ขายหรอก"
          ..........อย่างที่หลายๆ คนกล่าวไปข้างต้นว่า ลำพังการแก้กฎหมายให้ขายปลาปักเป้าอย่างถูกต้องนั้นมันทำได้ แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือในความเป็นจริงมันจะสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ไหม และถ้ามีใครเป็นอะไรไป ใครจะออกมารับผิดชอบ
          แม้ว่าทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะพูดในทำนองว่า 'เอาอยู่' เพราะมีชุดตรวจสอบความปลอดภัยออกมาให้ใช้แล้วก็ตาม แต่เอาเข้าจริงมันจะใช้ได้ผลแค่ไหนกัน โดยเฉพาะกับสังคมที่นิยมความมักง่ายเป็นหลัก และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คนที่บอกว่าเอาอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่ตกม้าตายหลังจากกล่าวคำนั้นออกมาทั้งสิ้น!!!

pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved