HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 03/04/2556 ]
หน้าร้อน ทำอย่างไรดี!

รศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาลภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม        
          นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ : เรียบเรียง
          ไปไหนมาไหนช่วงนี้ มีแต่คนบ่นว่าร้อนจนแสบผิว  ปัญหานี้มีวิธีดูแลตัวเองมาฝากครับ
          1. สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่หนา ระบายอากาศดี สีอ่อน และสวมหมวก แว่นกันแดด หรือถือร่มในที่กลางแจ้ง รวมถึงใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่า 15 ซึ่งการทาครีมกันแดดหนาๆ และมีSPF สูงๆ จะช่วยป้องกันผิวหนังจากรังสียูวีได้ดีกว่า
          2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 2-3 ลิตร แต่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
          3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วร่างกายคนเรามีอุณหภูมิประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียสอาจเกิดอาการเพลียแดดได้ เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียไม่มีแรง มีตะคริวและมีไข้ และถ้าสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม สับสน ชักเกร็งหรือหมดสติ เราเรียกว่าโรคลมแดด ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด เกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือดและช็อกได้
          4. รังสียูวี (Ultraviolet) ในแสงแดดที่แผ่ลงมา จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเหงื่อเป็นเวลานาน นอกจากนั้นการได้รับรังสียูวีเป็นเวลานานๆ ยังอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังโรคผิวหนังบางชนิดและผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนไวรวมถึงยังอาจมีผลต่อการเกิดต้อกระจกและต้อเนื้อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
          5. ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายในที่ร่ม โล่ง ถ้าเป็นกลางแจ้ง ให้ทำในช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด และควรผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อหรือเชื้อราที่เกิดขึ้นได้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน อย่าเพิ่งออกกำลังกายหักโหม ให้ร่างกายได้มีการปรับตัวอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์เสียก่อน
          6. ระวังความสะอาดของอาหาร น้ำ น้ำแข็งที่รับประทาน เพราะอาจบูดเสียง่าย และทำให้เกิดอุจจาระร่วง
          7. สุดท้ายผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เด็กเล็กและผู้มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังเรื่องอุณหภูมิอากาศ เพราะอากาศร้อนจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว เกิดความเครียด หัวใจทำงานหนักและควรให้รับประทานผักผลไม้ เพื่อเติมวิตามินและเกลือแร่แก่ร่างกายในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ รวมถึงได้รับน้ำอย่างเพียงพอสังเกตได้จากสีของน้ำปัสสาวะที่ออกมา ถ้าสีเหลืองใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอลองนำไปปฏิบัติ จะช่วยคลายร้อนได้ครับ
          พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
          วิ่งเพื่อสุขภาพสำหรับผู้รักสุขภาพ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน"ศิริราช เดิน-วิ่ง ผสานชุมชน ครั้งที่ 7" เฉลิมพระเกียรติคุณในวาระ 128 ปีพระราชสมภพสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์และเฉลิมฉลองครบรอบ 125 ปี รพ.ศิริราชชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วันอาทิตย์ที่28 เม.ย. 56  เวลา 06.00 น. ณ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์เปิดรับสมัครวันนี้ที่ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์รพ.ศิริราช สอบถาม โทร. 0-2419-9980, 0-2419-9983


pageview  1205878    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved