HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 07/02/2556 ]
ไม่ควรทำ..ถ้าไม่อยากให้ลูกติดเกม

รศ.นพ.ชาญวิทย์  พรนภดลภาควิชาจิตเวชศาสตร์
          ปัจจุบันเด็กกับคอมพิวเตอร์และการเล่นเกม ดูจะเป็นของคู่กัน ที่นับวันจะแยกกันยาก ปัญหานี้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถช่วยแก้ไขได้ ด้วยการไม่ทำสิ่งเหล่านี้
          1. ไม่ตั้งกติกาก่อนซื้ออุปกรณ์เล่นเกมให้การที่ผู้ปกครองซื้ออุปกรณ์เล่นเกมให้ลูก โดยไม่ได้มีการตั้งกติกาการเล่นเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ปกครองควรมีการสร้างกติการ่วมกันกับเด็กก่อนว่า เด็กสามารถเล่นเกมได้วันไหนบ้าง เวลาไหนบ้าง เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด ก่อนจะเล่นจะต้องรับผิดชอบทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน หากไม่รักษากติกาจะต้องถูกทำโทษอย่างไร (แนะนำให้ใช้วิธีงดเกม หรือลดเวลาในการเล่นเกมลง) จะเป็นการยากมากที่จะมาตั้งกติกากันภายหลัง หลังจากที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว
          2. ใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็กพ่อแม่ผู้ปกครองที่งานยุ่งอาจจะคิดว่าการให้เด็กอยู่บ้านเล่นเกม หรือไปอยู่ร้านเกมน่าจะปลอดภัย ตัวเองจะได้มีเวลาส่วนตัวเพื่อไปทำอย่างอื่น ขอบอกว่าความคิดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง หลายครอบครัวกว่าที่พ่อแม่จะรู้ตัวลูกก็ติดเกมงอมแงมไปเสียแล้ว
          3. ดีแต่บ่น แต่ไม่เคยเอาจริง สิ่งที่พ่อแม่มักจะทำเสมอแต่เป็นวิธีที่ไม่เคยได้ผล คือ การดีแต่บ่น เช่น "เล่นนานไปแล้ว" "เลิกได้แล้วนะ" "เมื่อไหร่จะเลิกสักที" การพูดบ่อยๆ นอกจากจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่า "บ่นอีกแล้ว...รำคาญ" ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้ลูกไม่อยากคุยและไม่อยากเจอหน้าพ่อแม่เพราะคิดว่าจะต้องโดนดุ การพูดน้อยแต่ทำจริงตามกติกาที่ตกลงกันไว้เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าเสมอครับ
          4. ใจอ่อนธรรมชาติของเด็กมักจะชอบต่อรองกับพ่อแม่เสมอเมื่อหมดเวลาเล่น โดยมักจะพูดว่า "แป๊บหนึ่ง...ขออีก 10 นาทีน่า จะจบเกมแล้ว" ไปๆ มาๆ 10 นาทีที่ว่าก็อาจลากยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งพอต่อรองได้ครั้งหนึ่งก็มักจะมีครั้งต่อๆไป เพราะเด็กเขารู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง การใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้มีผลเสียกับเรื่องเล่นเกมเท่านั้นนะครับ แต่จะมีผลต่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างในบ้าน ถ้าลูกรู้ว่าคุณจะใจอ่อนแล้ว เป็นเรื่องยากที่เขาจะทำตามกฎกติกาที่วางไว้ เพราะคิดว่าจะมาต่อรองเอาทีหลังได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษาระเบียบวินัยในตัวเองของเขาในระยะยาว
          5. ไม่เสมอต้นเสมอปลายคุณอาจเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ แต่ก็เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตั้งกฎว่าอย่าเล่นเกมเกิน2 ชั่วโมง แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะความใจอ่อนของคุณ หรือความที่คุณไม่มีเวลา สุดท้ายแล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะไร้ความหมาย ไม่ต่างกับการใจอ่อนยอมให้ทุกครั้งเลยครับ
          6. ความขัดแย้งกันเองระหว่างผู้ปกครอง เมื่อลูกขอเล่นเกมคุณแม่อาจจะไม่ให้ แต่คุณพ่ออาจตามใจ เวลาเกิดความขัดแย้งกันอย่างนี้ เด็กๆ ก็มักเลือกเข้าข้างฝ่ายที่ให้ประโยชน์กับเขามากที่สุดซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น เขาอาจรู้สึกว่าแม่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขา เป็นศัตรูกับเขาไปเลย ในเรื่องนี้พ่อแม่ควรมีจุดยืนร่วมกันนะครับ ว่าจะวางกฎกติกาของบ้านอย่างไร และตัวเด็กๆ เองก็ต้องมีส่วนร่วมในการวางกฎกติกาด้วยนะครับ
          7. ละเลยการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวหลายครอบครัวที่มีลูกติดเกม พบว่ามักจะเป็นครอบครัวที่พ่อ แม่ ลูกอยู่กันคนละทิศละทาง ต่างคนต่างอยู่ แต่ละคนง่วนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ค่อยได้มีการทำกิจกรรมสนุกสนานด้วยกัน ดังนั้นพ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมทำยามว่าง เป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่แพ้การเล่นเกม หรือมากกว่าการเล่นเกม ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ และสามารถร่วมกันทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ทั้งครอบครัว เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อ แม่ ลูก
 


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved